ชาวไทยกับพระพุทธศาสนาอยู่คู่กันมาแต่โบราณ ต่างฝ่ายต่างค้ำจุน ช่วยเหลือกันและกัน และในยามที่ผู้คนเดือดร้อน ทุกข์ยาก จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พระสงฆ์ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตามอัตภาพ จนเกิดเป็น “7 บทบาทใหม่ของพระสงฆ์ยุคโควิด” ที่อุบาสกอุบาสิกาเห็นแล้วไม่คุ้นตา
1. พระสงฆ์ตรวจโควิด
วัด ซึ่งตั้งอยู่กลางชุมชนที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่กว่า 500 คน “พระสงฆ์” ที่พึ่งทางใจของชาวบ้านในยามทุกข์ จึงต้องรับบทผู้ตรวจและติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงและติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation อย่างที่ “พระมหาพร้อมพงศ์ ปราสฺสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม” ได้ปฏิบัติ โดยจะสวมชุด PPE ลงพื้นที่ชุมชนใกล้วัด ปฏิบัติภารกิจตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เยี่ยมชุมชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกวัน ติดตามอาการของผู้ป่วย และนำอาหารรวมทั้งยารักษาโรค มอบให้แก่ผู้ป่วยด้วย อีกทั้ง ยังตรวจโควิดให้กับประชาชนที่แจ้งความต้องการผ่านเพจ วัดสุทธิวราราม ด้วย จนเกิดเป็นโครงการ “พระไม่ทิ้งโยม”
2. โรงครัวพระธรรม
ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนตกงาน ทำให้ไม่มีเงินซื้อของยังชีพ อย่างเช่น อาหาร พระสงฆ์หลายวัด จึงผุดภารกิจ เติมอิ่มให้ท้องชาวบ้าน ด้วยการทำอาหารเลี้ยงผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือที่หลายคนเรียกว่า “อาหารรสพระธรรม” วัดหลายแห่งต้ังเป็นโรงเจ ทำอาหารแจกฟรีโดยเฉพาะก็มี หรือบางวัดก็ทำ “โรงทานเคลื่อนที่” นำอาหารขึ้นท้ายกระบะ ตักแจกจ่ายญาติโยม เกิดเป็นภาพประทับใจ อิ่มทั้งบุญ อิ่มทั้งใจ
3. พระสงฆ์รับบท “สัปเหร่อ”
พระสงฆ์ในวัดหลายแห่งทั่วไทย บัดนี้ต้องสวมบทเป็นทั้ง “ผู้ดำเนินพิธีสงฆ์” และ “สัปเหร่อ” จำเป็น ช่วยสัปเหร่อตัวจริงที่มีน้อยคนในวัด ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้กับผู้เสียชีวิตโควิด-19 ที่รอเผาจำนวนมาก อย่างเช่น ที่วัดศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี คณะพระสงฆ์ต้องสวมชุด PPE ร่วมจัดพิธีศพ ร่วมกับสัปเหร่อ หรือนายป่าช้าประจำวัด ที่อายุ 74 ปี หรืออย่างวัดแห่งหนึ่ง ที่ภาพพระสงฆ์และสัปเหร่อสวมชุด PPE เป็นไวรัลจากเพจเฟสบุ๊ค “แจ้งข่าวกาฬสินธุ์” ซึ่งแต่ละคนต้องเขียนชื่อระบุตัวตนบนชุด PPE โดยชาวเน็ตเข้ามาแสดงความเห็นและแชร์ภาพดังกล่าวอย่างล้นหลาม พร้อมทั้งระบุว่า เป็นภาพที่สร้างความขำขันบนความหดหู่เป็นอย่างมาก
4. พระสงฆ์สร้างอาชีพ
วัด กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ตกงานเสมอ พระสงฆ์หลายวัด จึงเกิดไอเดียใช้พื้นที่ในวัดที่ว่างเปล่า จัดสอนอาชีพให้ผู้ว่างงานทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่สอนทำอาหาร ปลูกผักผลไม้ ไปจนถึงปรุงยาสมุนไพร ที่ฮิตสุดขณะนี้ คงไม่พ้น “ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร”
5. พระสงฆ์ปรุงและปลุกเสกยาต้านโควิด
บริเวณวัดที่กว้างขวาง ทำให้พระสงฆ์ชวนญาติโยมทั้งบ้านใกล้เรือนเคียงหรือต่างอำเภอที่ติดกัน มาร่วมปลูกฟ้าทะลายโจร เป็นพืชสร้างรายได้ ขณะที่วัดบางแห่ง ทำยาฟ้าทะลายโจรอัดเม็ด แค่นั้นไม่พอยังปลุกเสกอีกด้วย ก่อนนำแจกจ่ายชาวบ้านไว้รับประทาน เสริมสุขภาพให้แข็งแรง ต้านโควิด เช่นที่เกิดขึ้น ณ วัดอินทาราม ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น
6. พระสงฆ์พ่นยาฆ่าเชื้อโรค
นอกจากต้องปฏิบัติกิจของสงฆ์ ออกบิณฑบาตทุกเช้าแล้ว พระสงฆ์ยังต้องรับบท เจ้าหน้าที่พ่นยาฆ่าเชื้อโรคตามชุมชนรอบวัดอีกด้วย อย่างเช่น พระสงฆ์วัดราชบรรทม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สวมชุด PPE ออกพ่นฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ไปตามชุมชนรอบ ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง
7. Temple Isolation
จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อหลักหมื่นทุกวัน ทำให้เตียงผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ไม่เพียงพอกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ วัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสถานที่กักตัวและรักษา โดยโรงพยาบาลสงฆ์ จึงร่วมกับวัดสุทธิวราราม ได้ดำเนินการสร้างสถานแยกกักตัวที่วัด หรือ Temple Isolation ณ วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยได้มีการจัดระบบการดูแลผู้ป่วย ในรูปแบบการกักตัวในชุมชน Community Isolation โดยใช้วัดเป็นสถานที่สำหรับกักตัว ซึ่งมีช่องทางการสื่อสารผ่านทาง Telemedicine และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์ พยาบาล และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมถึงคนในชุมชนโดยรอบ
ที่มาข้อมูล เดลินิวส์, ThaiPBS, คมชัดลึก, MGR Online, ข่าวสด, Voice TV