กลายเป็นภาพยนตร์มาแรงอันดับ 1 บน Netflix ไปซะแล้ว สำหรับภาพยนตร์สัญชาติอินเดียเรื่อง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ที่ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของเหล่า “Sex Worker” หรือ “โสเภณี” ในนครมุมไบของอินเดีย ผ่านตัวละครหลักคือ “คังคุไบ กฐิยาวาฑี (Gangubai Kathiawadi)” แม่เล้าชื่อดังที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของเหล่าโสเภณีและสตรีในกามธิปุระ
โดยบอกเล่าเรื่องราวของเธอตั้งแต่ช่วงชีวิตในวัยเด็กอันขมขื่น หลังเธอถูกคนรักหักหลังนำตัวมาขายที่ซ่อง และทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น จากโสเภณีได้ไต่เต้าจนกลายเป็นแม่เล้าหรือนายหญิงของซ่อง และสุดท้ายเธอได้กลายเป็นถึงนายกแห่งกามธิปุระ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีและอาชีพโสเภณีให้ถูกกฎหมาย และบอกเลยว่าเรื่องราวใน Gangubai Kathiawadi นั้นสร้างขึ้นมาจากเรื่องจริงของ คังคุไบ กฐิยาวาฑี ตัวจริงเสียงจริง!
ใครที่ได้ดูแล้วต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหนังดีมาก แต่ก็ยังมีสัญลักษณ์หรือวัฒนธรรมบางอย่างของอินเดียที่สะท้อนผ่านเรื่องราว ที่ดูแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ วันนี้ The Joi เลยจะพาเพื่อน ๆ มา เปิดความหมาย 6 สัญลักษณ์และวัฒนธรรมอินเดียจาก Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ จะมีอะไรบ้าง ตามเราไปดูกันเลย!
ป.ล. อาจมีการสปอยล์ฉากบางฉากในเรื่อง ใครที่ยังไม่ได้ดู ไปดูมาก๊อนนน!
1. จุดสีแดงบนหน้าผากของ “คังคุไบ” และสตรีคนอื่น ๆ ในเรื่อง
เริ่มกันที่สัญลักษณ์ที่หลาย ๆ คนน่าจะสงสัยคือสัญลักษณ์จุดวงกลมสีแดง บนหน้าผากของสตรีหลาย ๆ คนในเรื่อง Gangubai Kathiawadi บางคนก็มีจุด บางคนก็ไม่มี
สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า บินดิ (Bindi) เป็นสัญลักษณ์ตกแต่งตามธรรมเนียมฮินดู ทำมาจากมูลของวัว ที่นำมาตากแห้ง ก่อนจะนำไปเผา แล้วจึงนำมาบดให้เป็นผง ผสมด้วยสีของรากไม้สีแดง ใช้แต้มที่กลางหน้าผาก ระหว่างหัวคิ้ว ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์รวมของภูมิปัญญา โดยเชื่อกันว่าบินดิเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ปกป้องสตรีที่แต่งงานแล้วและสามีของพวกเธอ นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องสตรีจากสายตาริษยาของคนทั่วไปอีกด้วย
2. วงกลมสีแดงบนฝ่ามือของ “ราเซียไบ”
นอกจากจุดสีแดงบนหน้าผากแล้ว อีกหนึ่งฉากที่ทำเอาหลายคนงงคือสัญลักษณ์วงกลมสีแดง บริเวณฝ่ามือของตัวละครที่มีชื่อว่า “ราเซียไบ” โดยวงกลมดังกล่าวนี้จะพบได้บ่อยในวัฒนธรรมทมิฬนาฑูหรือเตเลกู
ซึ่งนอกจากที่มือแล้ว หลายคนโดยเฉพาะสตรีในอินเดียจะนิยมทาสีแดงที่เท้าด้วย เนื่องจากเป็นความเชื่อว่าสีแดงเป็นสีมงคล โดยสีที่นำมาทานี้เรียกว่า “กุมกุม” ทำมาจากสมุนไพรธรรมชาติ โดยในช่วงแรกเหล่านักเต้นจะทากุมกุมไว้ที่ฝ่ามือ เนื่องจากการแสดงร่ายรำในอินเดียจะต้องมีการแสดงสัญลักษณ์มือแบบต่าง ๆ ทำให้การเต้นดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ส่วนปัจจุบันผู้คนนิยมทาสีแดงที่ฝ่ามือและเท้าเพื่อความเป็นสิริมงคล
3. ผ้าส่าหรีสีขาวที่ “คังคุไบ” สวมตลอดเวลา
ในเรื่องของผ้าส่าหรีสีขาวที่คังคุไบสวมอยู่ตลอดในภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi มีความเชื่อหลากหลาย บางส่วนเชื่อกันว่าสีขาวหมายถึงความเรียบง่าย ความสงบ และความบริสุทธิ์
แต่ถึงอย่างนั้น จะมีฉากหนึ่งที่คังคุไบพูดว่า ถ้าเธอต้องใส่ส่าหรีสีขาวตั้งแต่อายุยังน้อยเท่านี้ ลูกค้าอาจจะกลัวเธอก็ได้ จึงอาจเป็นไปตามความเชื่อของชาวฮินดูในอดีต ที่ว่าการสวมส่าหรีสีขาวคือสัญลักษณ์ของแม่ม่าย เมื่อสามีตายจากไป ภรรยาจะต้องสวมส่าหรีสีขาวเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับสามีที่จากไปตลอดชั่วชีวิตของเธอ แต่ถึงอย่างนั้นในปัจจุบัน การสวมส่าหรี่สีขาวถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่ว่าใครก็สามารถสวมใส่ได้
4. “ปาทาน” คืออะไร?
จะมีฉากหลาย ๆ ฉากในเรื่อง Gangubai Kathiawadi ที่กล่าวถึง “ปาทาน” ไม่ว่าจะเป็นฉากแรก ๆ ที่มีการกล่าวถึงชายที่ทำร้ายคังคุไบว่า “ไอ้ปาทานนั่นกลับมาอีกแล้ว” หรือฉากที่มีคนบอกกับคังคุไบว่า “ได้ยินมาว่าเธอชอบพวกปาทาน” แล้วคำว่าปาทานเนี่ยมันคืออะไรกันแน่
ชาวปาทาน แท้จริงคือกลุ่มชนอิหร่านกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้ และเป็นกลุ่มชนที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน และในใหญ่รองลงมาในปากีสถาน คนไทยมักเรียกว่า “แขกปาทาน”
5. การดื่มชาโดยเทชาใส่จานรองแก้ว
ในฉากที่คังคุไบได้พบกับท่านายกรัฐมนตรี หลายคนถึงกับงงเมื่อท่านนายกฯ ยื่นน้ำชาให้เธอ หลังจากนั้นเธอจึงเทชาในแก้วใส่จานรองแก้วก่อนแล้วค่อยดื่ม ว่าทำไมเธอถึงไม่ดื่มชาจากแก้วโดยตรงเลย?
หลายคนอาจจะทราบกันดีว่าอินเดียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และในช่วงเวลาของภาพยนตร์ เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมของอังกฤษยังคงฝังรากลึกอยู่ในอินเดีย ซึ่งรวมไปถึงวัฒนธรรมการดื่มชาด้วย มีการปลูกชาในอินเดีย แต่ถึงอย่างนั้น ชาวอังกฤษกลับไม่อนุญาตให้ชาวอินเดียดื่มชาจากแก้วแบบพวกตน แต่ให้ดื่มจากจานรองแก้วแทน เนื่องจากถือว่าอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Suppanat Kayee ได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้เช่นกัน และยังชวนสังเกตว่าในตอนแรกที่คังคุไบได้พบกับนายกฯ เขาไม่ยอมจับมือของเธอและไม่ยอมดื่มชาด้วยเนื่องจากเธอเป็นโสเภณี เธอจึงดื่มชาจากจานรองแทนแก้ว เพื่อเป็นการแสดงความน้อบน้อมถ่อมตน และไม่ให้คนที่ต้องใช้แก้วต่อจากเธอรังเกียจสถานะของเธอ และนั่นทำให้ท่านนายกประทับใจเป็นอย่างมาก
6. เบื้องหลัง “ดอกกุหลาบสีแดง” ของท่านนายกฯ
ปิดท้ายกันด้วยอีกหนึ่งฉากทรงพลังในเรื่อง Gangubai Kathiawadi เมื่อคังคุไบพูดอย่างมั่นใจว่าหากเธอไม่ได้รับดอกกุหลาบจากท่านนายกฯ ภายใน 15 นาที เธอจะยอมเปลี่ยนชื่อเลย ฉากนี้มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?
ต้องบอกก่อนว่าตามประวัติศาสตร์ คังคุไบ ได้เดินทางไปพบกับท่านนายกรัฐมนตรีจริง ๆ โดยนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลานั้นคือ “ชวาหระลาล เนห์รู” (Jawaharlal Nehru) รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย หากเพื่อน ๆ ลองค้นหาภาพถ่ายของเขาในกูเกิล จะพบว่าเขามักจะเหน็บดอกกุหลาบสีแดงไว้บนเสื้อเสมอ โดย ชวาหระลาล เนห์รู จะเหน็บดอกกุหลาบสีแดงไว้บนเสื้อทุกวัน และดอกกุหลาบสีแดงนี้เป็นสิ่งที่เขาใช้เพื่อระลึกถึงภรรยาที่เสียชีวิตไปจากอาการป่วย
การที่ท่านนายกฯ แห่งอินเดียมอบดอกกุหลาบสีแดงนี้ให้กับคังคุไบ ก็เหมือนเป็นการยอมรับและเคารพเธอจากใจจริงนั่นเอง
และนี่ก็คือความหมาย 6 สัญลักษณ์และวัฒนธรรมอินเดียจาก Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่พวกเรานำมาฝากเพื่อน ๆ กันในวันนี้ อ่านแล้วอาจจะช่วยให้เพื่อน ๆ หายสงสัยในฉากบางฉากไปไม่มากก็น้อย ใครที่ดูแล้วอย่าลืมมาแชร์กันนะว่ารู้สึกอย่างไร ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดู รีบไปดูกันได้บน Netflix เพราะหนังดี ๆ แบบนี้ พวกเราไม่อยากให้เพื่อน ๆ พลาด!
ที่มาข้อมูล: Facebook Suppanat Kayee, Ch3Thailand, Bright TV, Facebook Learningpune Fanpage, Wikipedia, VAGABOMB, NDTV.com
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ดูหนังจบ แต่คนไม่จบ! เปิดวาร์ปไอจี 8 นักแสดง Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ประวัติ “อาเลีย บาตต์” (Alia Bhatt) ผู้รับบทคังคุไบใน “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: “อาเลีย บาตต์” เตรียมเล่นหนังฮอลลีวูด “Heart of Stone” ร่วมกับ “กัล กาด็อท”