ชาว LGBT เฮ! หลังส.ส. 400 เสียง โหวตผ่าน “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ให้สิทธิเบื้องต้นชาวสีรุ้ง อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถหมั้นและสมรสได้ แต่ยังไม่ให้เพิ่มคำนิยาม “บุพการีลำดับแรก”
ประเทศไทยสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนและประเทศที่ 3 เอเชีย ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT สามารถ “หมั้นและสมรส” ได้ รวมถึงได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายไม่ต่างไปจากคู่สมรส “ชาย-หญิง” เช่น สิทธิ์รับมรดก, สิทธิ์ในการกู้ร่วม รวมถึงการปฏิบัติในด้านอื่น ๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หลังส.ส. ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติโหวตเห็นชอบ 400 เสียง, ไม่เห็นด้วย 10 เสียง, งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง ให้พิจารณาให้ผ่านร่าง “พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แพ่งและพาณิชย์” หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เมื่อวานนี้ (26 มีนาคม 2567) จากนั้น จะส่งไม้ต่อให้ส.ว. พิจารณากฎหมายดังกล่าวและประกาศวันที่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ให้เพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” แทน “บิดา-มารดา” เนื่องจากเป็นคำใหม่และยังไม่มีนิยามถ้อยคำในกฎหมายไทย อาจเกิดปัญหาในการตีความว่าเป็นใคร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายทั้งประเทศ ที่เกี่ยวกับ “บิดา-มารดา” หากเพิ่มเติมถ้อยคำนี้ลงไป ก็จะต้องกระทบกับกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีอยู่มากกว่าหลายร้อยฉบับ
ขณะที่ชาวเน็ตทุกเพศทุกวัยต่างพากันแสดงความยินดีกับการผ่านร่าง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” กันอย่างล้นหลามบนโลกโซเชียล ดันให้ “#สมรสเท่าเทียม” ขึ้นเทรนด์ “X (ทวิตเตอร์) ประเทศไทย” เป็นอันดับ 1 เมื่อวานนี้ด้วย
ที่มาข้อมูล: มติชนออนไลน์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ชาวเน็ตผุด #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต หลังยังไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ พร้อม 13 เหตุผลดัน “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” ต่อ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: พาส่องประวัติ “แอนนา ทีวีพูล” หลังปรากฏตัวในฐานะนางแบบ LGBTQ+ เอเชียหนึ่งเดียวบนรันเวย์ระดับโลก!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผย 24 คนดังไทย LGBTQA+ ที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่มากที่สุด!