เหมือนจะดีแล้ว แต่ยัง! ชาวเน็ตแห่ติด #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต หลังยังไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ เดินหน้าดัน “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” ต่อ พร้อม 13 เหตุผลนี้
แม้ว่างาน “นฤมิตไพรด์” ซึ่งเป็นไพรด์พาเหรด (Pride Parade) หรือการเดินพาเหรดเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในไทย เพื่อเฉลิมฉลอง “Pride Month” หรือเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ จะจบลงอย่างสวยงามไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 แต่ “เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)” ยังเดินหน้าเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศด้านกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน 2565) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. …” และ “ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …” โดยสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งระบุสิทธิและสาระสำคัญของ “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” สำหรับคู่รักเพศเดียวกันมีดังนี้
1. มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
2. มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา
3. มีสิทธิ์รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
4. มีสิทธิ์รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
5. มีสิทธิ์และหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
6. มีสิทธิ์เซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
7. มีสิทธิ์จัดการศพ
และใน “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” นี้ ยังได้ระบุคำว่า “คู่ชีวิต” หมายถึง บุคคลสองคน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้ โดยผู้จดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย หากเป็นผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล ที่สำคัญ “คู่ชีวิต” มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
แต่ “กลุ่มเครือ LGBTQ+” ยังมองว่า “พ.ร.บ. คู่ชีวิต” ฉบับร่างล่าสุด ยังไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศยังถูกกีดกันออกจากการสมรสอยู่ดี ดังนั้น จึงไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ ไม่ครอบคลุมการเข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์บางประการของคู่ชีวิต เท่ากับ “คู่รักชายหญิง” ที่จดทะเบียนสมรสกัน เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ชาวโซเชียลซึ่งเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อน “พ.ร.บ.” ทั้งสองฉบับ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศ ก็ได้ผุด #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต และรวมพลังดันแฮชแท็กดังกล่าวจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์!
ชาวเน็ตได้แสดงความคิดเห็นมากมายต่อประเด็นดังกล่าวมากมาย เช่น “การผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันไปอีก”, “พ.ร.บ. คู่ชีวิต ออกมาเพื่อประจานคนหลากหลายทางเพศให้หนักขึ้นอย่างนั้นหรือ?” ขณะที่บางคนก็มองว่า “ถ้าใช้พ.ร.บ. คู่ชีวิต ก็ต้องตามไปแก้กฎหมายอีกหลายฉบับ สู้แก้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ครั้งใหญ่ครั้งเดียวไม่ดีกว่าหรือ?”
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก “สมรสเท่าเทียม Marriage Equality” ได้ออกมาเปิด 13 เหตุผลที่ยังคงผลักดันให้ “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” ต่อไป แม้ร่าง “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” จะผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ดังนี้
1. เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 บัญญัติให้สิทธิการสมรสเฉพาะเพศชายกับเพศหญิง ทำให้คู่รักหลากเพศ เช่น หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม บุคคลนอนไบนารี ฯลฯ (LGBTIQN+) ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรี ที่พึงมีต่อกัน และพึงได้รับจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
2. การเป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses)” เป็นคำที่เป็นสากลและสามารถกล่าวอ้างได้ทั่วโลก ในขณะที่การเป็นคู่ชีวิต (Civil Partnerships) ไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศทุกประเทศ
3. หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในรูปแบบของ “ป.พ.พ.” คู่สมรส LGBTIQN+ ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีตามที่เคยได้รับในประเทศต้นทางที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสเช่นเดียวกัน
4. การขยายการสมรสตาม “ป.พ.พ.” ไปยังคู่ LGBTIQN+ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTIQN+ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ เช่น สิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยี สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนั้น เด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTIQN+ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่ LGBTIQN+ ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก
5. การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ตามร่าง “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ในฐานะ “คู่ชีวิต (Civil Partnerships)” ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใด ๆ มาก่อน ดังนั้น จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสิทธิใด ๆ ในฐานะ “คู่ชีวิต” ตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ. ประกันสังคม ฯลฯ
6. การแก้ “ป.พ.พ. 1448” หรือสมรสเท่าเทียม จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กในครอบครัวเพศหลากหลาย ให้ได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับคู่ผู้ปกครองต่างเพศ เช่น เมื่อบุตรเกิดมาจากผู้ปกครองเพศเดียวกัน ไม่ต้องรอผ่านขั้นตอนการรับอุปการะเลี้ยงดูที่อาจใช้เวลานาน แต่ได้รับการรับรองเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ต่างจาก “พ.ร.บ. คู่ชีวิต” ที่ไม่รับรองการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกทั้ง ลดการเลือกปฏิบัติต่อเด็กจากครอบครัวเพศหลากหลาย หรือเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ หากการสมรสครอบคลุมทุกเพศ
7. การออก “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” แยกออกจาก “ป.พ.พ.” ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลยพินิจในการจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการ หรือสถานที่สำหรับจดทะเบียนคู่ชีวิตมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสตาม “ป.พ.พ.” อาจถือเป็นเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และคุณลักษณะทางเพศ (SOGIESC)
8.การจัดทำร่าง “พ.ร.บ. คู่ชีวิต” แทนที่จะไปปรับแก้ “ป.พ.พ.” เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้เท่าเทียม ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อศักดิ์ศรีของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวของคู่ LGBTIQN+ ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของคู่รักต่างเพศอย่างไร
9. “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” ที่ผ่านมามีความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจสอบว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเคยจดทะเบียนแบบใดมาก่อน เคยจดทะเบียนซ้อนหรือไม่ หรือสิทธิหน้าที่ใดตาม “ป.พ.พ.” จะสามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้ให้กับคู่ชีวิตมากน้อยหรือไม่เพียงใด
10. “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม เป็นการผลักภาระหน้าที่ใช้ผู้ใช้กฎหมาย ต้องพึ่งพิงการตีความของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหากมีข้อโต้แย้งต้องนำไปสู่การพิจารณาโดยศาล
11. หาก “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” ประกาศใช้เป็นกฎหมาย อาจทำให้เกิดข้ออ้างว่า มีกฎหมายแล้วจะเรียกร้องอะไรอีก ได้คืบจะเอาศอก ทำให้การผลักดัน “ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” ในอนาคตทำได้ด้วยความยากลำบาก
12. “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” ที่ให้ศักดิ์ศรีและสิทธิต่างกับ คู่สมรสชายหญิงทั่วไป ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พันธกรณี และหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ (SOGIESC)”
13. การที่รัฐยืนยันที่จะผลักดัน “ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต” เป็นการเพิกเฉยต่อการเรียกร้องพลเมืองผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่สนับสนุนร่างแก้ไข #สมรสเท่าเทียม ผ่านเว็บไซต์ www.support1448.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายกว่า 330,000 รายชื่อแล้ว ณ ขณะนี้
ที่มาข้อมูล: ประชาชาติธุรกิจ, Nation TV และ Facebook/สมรสเท่าเทียม Marriage Equality
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ชาวเน็ตเดือด! ดัน #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ ติดท็อป 10 เทรนด์ทวิตเตอร์ในไทย!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เพศทางเลือกเฮ! ศาลรัฐธรรมนูญเปิดทาง เพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ฉลองเดือนแห่งความหลากหลาย! ส่อง 20 ไอเดียทาเล็บสีรุ้งสดใส ต้อนรับ “Pride Month”