- “คนที่พูดจาหยาบคาย” มักถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีหรือไม่มีมารยาท แต่เพื่อน ๆ The Joi รู้หรือไม่ว่า “การพูดคำหยาบ” หรือ “สบถถ้อยคำหยาบคาย” กลับทำให้สุขภาพดีทั้งกายและใจด้วย!? ถ้ายังไม่เชื่อ ลองอ่านงานวิจัยต่างประเทศนี้ดู
เว็บไซต์ข่าวและข้อมูลสุขภาพจิต “Psych Central” ของสหรัฐฯ ได้เผยผลการวิจัยเกี่ยวกับ “การพูดคำหยาบ” ว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่เสมอไป หรือเป็นเครื่องชี้วัดว่า คน ๆ นั้นเป็นคนไม่ดี แต่มันยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจ 6 ประการด้วยกัน ดังนี้
1. บรรเทาอาการปวด
“การพูดคำหยาบ” เป็นการแสดงออกของมนุษย์ว่า “สู้” หรือ “ถอยหนี” การที่มนุษย์ได้พูดสบถหยาบคาย จะทำให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีน ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเจ็บปวดลดลง “ริชาร์ด สตีเฟนส์ (Richard Stephens)” จาก “มหาวิทยาลัยคีล (Keele)” ในอังกฤษ พบว่า คนที่พูดจาหยาบคายสามารถรับมือกับความเย็นเมื่อนำมือแช่น้ำเย็นได้มากกว่าคนที่ไม่พูดคำหยาบได้ถึง 2 เท่า
2. ทางออกของการไม่ใช้ความรุนแรง
“การพูดคำหยาบ” ตอบโต้กลับคนที่ว่าร้ายหรือกำลังจะทำมิดีมิร้ายกับเรา เป็น “ทางออกของการไม่ใช้ความรุนแรง” (ลงไม้ลงมือกันจนเลือดตกยางออก) แน่นอนว่า การพูดคำไม่ไพเราะนี้เราทำไปเพราะความโกรธ แต่มันก็ทำให้ผู้พูดได้ปลดปล่อยพลังงานลบออกจากร่างกาย ไม่เกิดความเครียด
3. รู้สึกควบคุมสถานการณ์ได้
เพื่อน ๆ เคยเห็นตัวละครในหนัง “พูดคำหยาบ” ออกมาตอนสถานการณ์หน้าซิ่วหน้าขวานกันรึเปล่า? “การพูดคำหยาบ” ณ เวลาดังกล่าวทำให้จิตใจของพวกเขาสงบลง รู้สึกมั่นใจ รู้สึกควบคุมสถานการณ์ที่ย่ำแย่นั้น ๆ ได้ และไม่ปล่อยให้สถานการณ์ (ปัจจัยภายนอก) มาควบคุมหรือกำหนดชีวิตพวกเขา
4. เกิดพันธะทางสังคมหรือความผูกพันทางสังคม
นักวิจัยสหรัฐฯ ยังพบว่า “การพูดคำหยาบ” เป็นการทำให้ผู้พูดไม่แปลกแยกจากสังคม แต่ยังไงกันล่ะ? ก็อย่างเช่น เราอยู่กับเพื่อนฝูง การที่เพื่อนพูดคำหยาบกับเรา เช่น “กู” หรือ “มึง” ทำให้รู้สึกว่าเราสนิทสนมกัน หรือจะเรียกว่า เป็นความรู้สึกกันเอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่พูดคำหยาบยังแสดงตัวตนออกมาว่า เป็นคนเปิดเผย, ซื่อสัตย์, มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และจริงใจ หากเพื่อน ๆ The Joi คนไหนมีเพื่อนชอบพูดหยาบคาย เขาคนนั้นมีคุณสมบัติของเพื่อนที่ดีอยู่นะ อย่าได้ทิ้งไปเชียวล่ะ!
5. สุขภาพดีทั้งกายและใจ
ส่วนใหญ่เวลาที่เรา “พูดหยาบคาย” ก็มักเกิดขึ้นในภาวะหรือสถานการณ์ที่ตึงเครียด การพูดคำหยายเป็นเหมือนการระบายความทุกข์ เศร้า หรือเครียดได้อีกทางหนึ่ง แถมยังช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น, ระดับเอ็นดอร์ฟิน (สารแห่งความสุข ซึ่งช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและอาการซึมเศร้า) และเซโรโทนิน (สารช่วยให้หลับสบาย) เพิ่มขึ้น ขณะที่อารมณ์ของผู้พูดจะสงบขึ้น
6. กระตุ้นความคิดและไอเดียสร้างสรรค์
และ “การพูดคำหยาบ” ยังสามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ภายในตัวเรา ในบุคคลที่มีไหวพริบในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ โดยธรรมชาติ นักวิจัยสหรัฐฯ พบว่า คนกลุ่มนี้สามารถคิดคำที่สร้างสรรค์มาก ๆ ได้ในระหว่างที่มีการพูดคำหยาบออกมา ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงเพื่อนในกลุ่มของเราจะมีคนหนึ่งที่มักพูดคำหยาบ, คำด่า หรือคำสบถ ด้วยคำแปลกใหม่ฟังแล้วทั้งฮาทั้งเจ็บใจจี๊ด เช่น คำว่า “เห็ดสด”, “สมองกุ้ง” หรือ “ตัวตึง” เป็นต้น
ทุกคนคงเห็นแล้วว่า “การพูดคำหยาบ” สักเล็กน้อย หรือกับเพื่อนฝูงคนสนิท ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่ยังทำให้เราสุขภาพดีทั้งกายและใจ อีกทั้ง ยังอารมณ์ดีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อย่าพูดคำหยาบจนเป็นนิสัยหรือผิดที่ผิดทาง ไม่งั้นเขาจะหาว่าเรา “ไม่มีกาลเทศะ” เอาได้นะเพื่อน ๆ
ที่มาข้อมูล: Psych Central และ Lessons Learned in Life
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผย “16 คำด่ายอดนิยมผิดกฎหมายตามฎีกา” ที่ทุกคนต้องรู้!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: รวมศัพท์วัยรุ่นจากชื่อ “ผลไม้” ฮิตติดโซเชียล 2021
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: “สไปรท์ (Sprite)” นางแบบอีโรติกตัวแม่แห่งไต้หวัน เผยคำด่าว่า “อีแก่” ทำให้เจ็บใจที่สุด