สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ประกาศศัพท์บัญญัติ Clickbait หรือ คลิกเบต คือ “พาดหัวยั่วให้คลิก” แปลตรงโดนใจเหล่าชาวเน็ตจนกลายเป็นไวรัล!
กำลังเป็นไวรัลอยู่ในนาทีนี้ สำหรับคำศัพท์บัญญัติจากทางราชบัณฑิตยสภาที่ประกาศให้ Clickbait ในภาษาไทยคือ “พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือทับศัพท์ว่า “คลิกเบต” ซึ่งพอคำดังกล่าวถูกเผยออกมาได้ไม่ถึงวัน ก็กลายเป็นประเด็นที่เหล่าชาวเน็ตให้ความสนใจกันไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยเมื่อวานนี้ (วันที่ 2 ตุลาคม 2023) ทางเพจ Facebook สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์ประกาศศัพท์บัญญัติ Clickbait พาดหัวยั่วให้คลิก, คลิกเบต ไว้ว่า
“พาดหัวยั่วให้คลิก, คลิกเบต เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า clickbait หมายถึง การพาดหัวข่าวหรือหัวข้อเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้อยากติดตามอ่านเนื้อหาโดยคลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้นอาจไม่มีประเด็นสำคัญ เนื้อหาไม่ครบถ้วน เนื้อหาบิดเบือนไม่ถูกต้อง และไม่ได้ตอบข้อสงสัยหรือความอยากรู้ของผู้อ่านตามระบุในหัวข้อข่าว มีลักษณะไม่น่าเชื่อถือ หลอกล่อ เชิญชวนเข้ามาให้อ่านเนื้อหา เปรียบเสมือนการใช้เบ็ดล่อเหยื่อให้ตกหลุมพราง
วัตถุประสงค์หลักของพาดหัวข่าวยั่วให้คลิกคือต้องการดึงดูด และเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บเพจของผู้สร้างเนื้อหาเพื่อหารายได้จากการโฆษณาด้วยยอดคลิกจำนวนมากซึ่งดึงดูดโฆษณาได้มากที่สุดและมักปรากฏบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (YouTube) ส่วนใหญ่มักปรากฏในหัวข้อข่าว หรือรูปภาพหน้าปกให้ดูน่าสนใจ แต่บอกรายละเอียดไม่หมด บิดเบือนจากความเป็นจริง เพื่อให้คนที่อ่านหัวข้อใคร่รู้ความจริง หรือต้องการอ่านเนื้อหาข่าว ทำให้เพิ่มยอดการเข้าชมจากผู้สร้างข่าวดังกล่าวได้
พาดหัวยั่วให้คลิกปรากฏบนสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งในหน้าฟีดข่าว เพจ หรือสำนักข่าวต่าง ๆ อาจเป็นเพราะแข่งขันกันหารายได้จากการโฆษณา หรือด้วยเหตุผลอื่น ทำให้ต้องสร้างความน่าสนใจของข่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ ดึงดูดให้เกิดการคลิกมากยิ่งขึ้น แม้ว่าหัวข้อข่าวจะไม่ตรงกับข่าว บอกรายละเอียดไม่หมดก็ตาม
การพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกได้สร้างผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสื่อสาร คุณภาพเนื้อหา และสิทธิของการรับรู้ข่าวสารของผู้ใช้สื่อออนไลน์บ้างไม่มากก็น้อย กล่าวคือ โดยลักษณะของการพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกช่วยเพิ่มความสนใจ และเพิ่มยอดผู้ชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น แต่การใช้ภาษาดึงดูดจากหัวข้อข่าว หรือหัวเรื่องได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นในหลาย ๆ กรณี หากผู้ใช้สื่อออนไลน์กดเข้าไปอ่านข่าวก็จะพบแต่เนื้อหาข้อมูลที่บิดเบือน ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ในขณะเดียวกันหากอ่านเพียงหัวข้อข่าวอย่างเดียวก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตัดสินเนื้อหาอย่างผิด ๆ อันทำให้เกิดภาวะข้อมูลข่าวสารปลอม ข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน และข้อมูลข่าวสารผิดพลาดได้”
หลังจากที่ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ประกาศศัพท์บัญญัติ Clickbait ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลที่หลายต่อหลายคนให้ความสนใจขึ้นมาทันที โดยชาวเน็ตต่างพากันกดไลก์กดแชร์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับคอมเมนต์ถึงประเด็นดังกล่าวประมาณว่า “โหว บัญญัติมาเป็นกลอน โคตรเจ๋ง”, “เป็นการบัญญัติศัพท์ที่รู้สึกเหมือนอ่านพาดหัวข่าวมาก ดีแล้วแหละ” และ “ยั่ว ๆ จ้า” เป็นต้น
ที่มาข้อมูล: Facebook สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เปิดที่มาของไวรัล “ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร” จากโคลงสี่สุภาพสู่โคลงสี่ไม่สุภาพในทวิตเตอร์!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: อัปเดต 20 คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษฉบับล่าสุดของราชบัณฑิตยสถาน เขียนยังไงให้ถูกต้องแต่ไม่ค่อยถูกใจ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: แจงแล้ว! “กรุงเทพมหานคร” ใช้ได้ทั้ง “Krung Thep Maha Nakhon” และ “Bangkok”