“The Most Hated Man on the Internet ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต” เป็นอีกหนึ่งสารคดี “Netflix” น้ำดี เล่าเรื่องราวของเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ชื่อว่า “เคย์ลา (Kayla)” เมื่อปี 2011 ที่ถูก “ฮันเตอร์ มัวร์ (Hunter Moore)” ดูดรูปโป๊วาบหวิวไปโพสต์ลงบนเว็บไซต์ “IsAnyoneUp.com” แหล่งให้คนชอบวิจารณ์คนอื่นได้สาดคอมเมนต์หยาบคายแบบไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก ซึ่งเธอและแม่จะต้องหาทางปิดเว็บไซต์นรกที่ทำลายชีวิตเหยื่อสาวมากมายนี้ให้ได้
หลายคนที่ดูแล้วหรือคิดจะดูอาจเกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่า สารคดี “Netflix” เรื่อง “The Most Hated Man on the Internet ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต” สร้างจาก “เรื่องจริง” หรือ “เรื่องแต่ง” กันแน่? และคำตอบก็คือ สร้างจากเรื่องจริง! และนี่คือ 9 เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้!
1. “ฮันเตอร์ มัวร์” เจ้าของฉายา “ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต (The Most Hated Man on the Internet)
“ฮันเตอร์ มัวร์” คือเจ้าของเว็บไซต์ “IsAnyoneUp.com” เว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังที่มุ่งเน้นให้คนนำภาพอนาจารของใครก็ตามมาโพสต์ แล้วให้ชาวเน็ตจากทั่วสารทิศที่เข้าเว็บดังกล่าวมาคอมเมนต์อย่างเผ็ดแสบ แบบไม่ปราณีเหยื่อ แน่นอนว่าการโพสต์แบบนี้ไม่เพียงแต่ทำเพราะสนองตัณหา แต่ยังต้องการล้างแค้นหรือบูลลี่คนที่ไม่ชอบอย่างสนุกสนาน หรือฝรั่งเรียกกันว่า “Revenge Porn” ส่วนใหญ่เหยื่อที่ถูกนำภาพลามกหรือภาพโป๊เปลือย คือ “ผู้หญิง”
เว็บไซต์นี้ถูกก่อตั้งในปี 2010 ซึ่ง ณ เวลานั้น “ฮันเตอร์ มัวร์” มีอายุเพียง 24 ปี แต่เว็บเริ่มมาดังช่วงปี 2011 มีผู้ใช้งานเดือนหนึ่งมากสุดกว่า 350,000 คน และสร้างรายได้ต่อเดือนให้เขามากกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านบาท! และเขาก็ฉลาดมากพอที่จะทำเรื่องผิดศีลธรรมนี้โดยไม่ให้มือเปื้อนเลือด ด้วยการพยายามใช้กลไก “มือสะอาด” โดยอ้างว่า คนเลว (หรือคนที่ทำผิด) ก็คือมือโพสต์ เขาเป็นเพียงเจ้าของเว็บไซต์ “IsAnyoneUp.com” ที่เปิดพื้นที่สาธารณะบนออนไลน์เท่านั้น
2. คนที่ว่าร้ายและซ่อนตัวเก่งที่สุดในโลก ก็ยังต้องแพ้มนุษย์แม่
เรื่องราวในสารคดี “The Most Hated Man on the Internet ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต” เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของหนึ่งในเหยื่อของ “ฮันเตอร์ มัวร์” ที่ชื่อว่า “เคย์ลา ลอว์ส” และแม่ของเธอ “ชาร์ล็อตต์ ลอว์ส” โดยวันหนึ่งสาว “เคย์ลา” พบว่า รูปวาบหวิวที่เธอลงบนโซเชียลมีเดียไปโผล่อยู่บนเว็บ “IsAnyoneUp.com” นอกจากมีรูปโชว์หราแล้ว ยังมีชื่อ, ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด ไม่ควรเผยแพร่ในที่สาธารณะ แนบคู่กับภาพด้วย และที่ทำให้เธอเจ็บใจจี๊ดคือ คอมเมนต์ใต้ภาพที่รุนแรงจนทำให้เธอบอบช้ำทางจิตใจและอับอายมาก ๆ
เมื่อ “เคย์ลา” ดึงสติตัวเองกลับมาได้ เธอต้องการนำภาพส่วนตัวที่มีมือดีเอาไปโพสต์ลงเว็บดังกล่าว ก็รีบบอกแม่ของตัวเองทันที ด้วยความเป็น “แม่” เธอทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ภาพที่ไม่เหมาะสมของลูกถูกลบออกจากโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะไปหาตำรวจ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือสักเท่าไหร่ จนต้องกลับมาตั้งหลักหาทางช่วยตัวเอง และ “ชาร์ล็อตต์” ก็เริ่มค้นอินเทอร์เน็ตเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งโปรแกรมเมอร์ จนกระทั่งได้พบกับ “เจมส์ แมคกิบนีย์” ตัวแปรสำคัญของเรื่องราวนี้ และเป้าหมายเดิมที่แค่ต้องการลบภาพลูกสาวตัวเองคนเดียว ก็กลายเป็นภารกิจ “ปิดเว็บ” ดังกล่าวแทน ซึ่งเธอก็ทำสำเร็จ!
3. ผู้หญิงที่เห็นในเรื่อง “The Most Hated Man on the Internet ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต” คือเหยื่อตัวจริง
ความน่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ผู้หญิงที่เพื่อน ๆ เห็นในซีรีส์ล้วนเป็น “เหยื่อตัวจริง” ของ “ฮันเตอร์ มัวร์” เช่น “เดสตินี่ เบเนดิกส์” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อว่า “Butthole Girl” ที่มาของชื่อนี้ก็มาจากการที่เธอกำลังถ่ายคลิปตัวเองอยู่ แล้วก็มีคน ๆ หนึ่งถามว่า ช่วยเอามือถือเข้าไปในก้นได้มั้ย? แล้วเขาจะโทรหาเธอ ซึ่ง “เดสตินี่” ก็บ้าจี้ทำตาม เอามือถือยัดก้น และนับแต่คลิปฉาวดังกล่าวถูกแชร์ว่อนเว็บ “IsAnyoneUp.Com” เธอก็ถูกเรียกด้วยชื่อน่าเกลียดนี้เรื่อยมา แม้จะเจอคอมเมนต์เจ็บแสบ และเกิดเรื่องเลวร้ายเหนือการควบคุมกับเธอ แต่เธอก็แอบบอกว่า ชอบช่วงเวลาดังกล่าว เพราะรู้สึกว่า “ตัวเองดัง”
4. “เจมส์ แมคกิบนีย์ (James McGibney)” ตัวแปรสำคัญของภารกิจปิดเว็บอันตราย
“เจมส์ แมคกิบนีย์” เป็นทหารเรือที่จบปริญญาโท ด้านการบริหารงานยุติธรรมทางอาญา จากมหาวิทยาลัยบอสตันเมื่อสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา และไดรับเกียรติบัตรรับรองความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์: การจัดการความเสี่ยงในยุคข้อมูลข่าวสาร จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีกทั้ง ยังเป็นเจ้าของเว็บไซต์ต่อต้านการบูลลี่บนโลกออนไลน์ดังชื่อว่า “Bullyville.com” (คลิกเข้าไปแล้วจะโผล่ที่ชื่อเว็บว่า “IsAnyoneUp” ซึ่งเขาได้ครอบครองในท้ายที่สุด) เพราะเขาเองเคยเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งเช่นกัน และคนที่แกล้งเขาคนแรกไม่ใช่ใคร แต่คือ “พ่อแท้ ๆ”
เขาได้มาเกี่ยวข้องกับ “ฮันเตอร์ มัวร์” ทางออนไลน์ โดยพ่อหนุ่มคนนี้ได้ติดต่อ “เจมส์ แมคกิบนีย์” ให้เขามาลงโฆษณาบนเว็บไซต์เขาได้ แต่เมื่อคลิกเข้าไปก็ต้องตกใจกับคอนเทนต์บนเว็บ “IsAnyoneUp” นับแต่นั้นเขาก็ตั้งเป้าที่จะปกป้องผู้หญิงและทำลาย “ฮันเตอร์ มัวร์” ให้จงได้ เขาสามารถทำให้เด็กหนุ่มเจ้าของเว็บฉาวนี้เชื่อใจและยอมขายเว็บให้ในราคา 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 534,000 บาท ได้ในเดือนเมษายน 2012
จากนั้น “เจมส์ แมคกิบนีย์” ได้เปลี่ยนการให้ลิงก์เว็บ “IsAnyoneUp” ปรากฎหน้าเว็บของ “Bullyville.com” แทน ซึ่งผู้คนสามารถเข้ามาแชร์ประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งและหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน แน่นอนว่า “ฮันเตอร์ มัวร์” เคืองเขามาก และทวีตต่อว่า เขาว่าเป็นพวกใคร่เด็ก (พีโด้) และชอบดูหนังโป๊เด็ก แต่ปากว่าได้ก็ว่าไป เพราะนั่นเป็นการปิดฉากเว็บอันตรายที่ทำลายชีวิตสาวหลายคนไปตลอดชีวิตได้แบบบริบูรณ์ ซึ่งมีอายุขัยเพียง 16 เดือนเท่านั้น
5. IsAnyoneUp.com มีอยู่จริง และยังเปิดอยู่
เว็บไซต์ “IsAnyoneUp.com” ยังอยู่ แต่ถูกเปลี่ยนการเข้าถึงไปยังหน้าเว็บไซต์ต่อต้านการกลั่นแกล้งทุกรูปแบบของ “เจมส์ แมคกิบนีย์” ซึ่งเขาได้แชร์ข้อความถึง “ฮันเตอร์ มัวร์” ถึงเรื่องราวอันเลวร้ายที่เขาได้กระทำไว้ด้วย หนึ่งในประโยคเด็ดนั้นก็คือ “บางครั้งคุณก็ต้องเป็นคนที่กลั่นแกล้งเพื่อต่อกรกับพวกชอบบูลลี่”
6. บทลงโทษของอาชญากรไซเบอร์ “ฮันเตอร์” และ “ชาร์ลส์ อีเวนส์ (Charles Evens)”
หลังจาก “ฮันเตอร์ มัวร์” ต่อว่าเขายับเยิน เช่น “พวกใครเด็ก (พีโด้)” ในปี 2013 เขาก็ได้ฟ้องร้องพ่อหนุ่มคนนี้ในข้อหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และเขาก็ “ชนะ” ซะด้วย โดย “ฮันเตอร์ มัวร์” ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่เขาเป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.9 ล้านบาท พร้อมทั้งจ่ายค่าทำเนียมศาลและอัยการด้วย
จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 “ฮันเตอร์ มัวร์” ก็ถูกพิพากษาว่า มีความผิดจริงในข้อหาขโมย, ช่วยเหลือ และสนับสนุนการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ทำให้เขาต้องถูกกักขังในเรือนจำนาน 2 ปีครึ่ง และต้องจ่ายค่าปรับอีก 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 71,000 บาท ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน และต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่ออีก 145 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,100 บาท
แต่เพื่อน ๆ รู้มั้ยว่า ภาพโป๊เปลือยที่เห็นบนเว็บ “IsAnyoneUp.com” เดิม ที่มีอยู่มากมาย นอกจากจะมีมือโพสต์ปริศนาที่เป็นผู้ใช้ทั่วไปแล้ว “ฮันเตอร์ มัวร์” ยังได้ใช้ “ชาร์ลส์ อีเวนส์” แฮกเกอร์ ในการดูดรูปภาพของเหยื่อจากบัญชีโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาปล่อยลงเว็บของชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งเขาก็ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี และปรับเป็นเงินหลายร้อยดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณหลักแสนบาทไทย หลังยอมรับสารภาพต่อผู้พิพากษาว่า ได้ขโมยรูปสาว ๆ หลายร้อยรูปทางอีเมล และขายภาพดังกล่าวให้กับ “ฮันเตอร์ มัวร์”
7. สารคดีเรื่องนี้ใช้ผู้สร้างเดียวกันกับเรื่อง “The Tinder Swindler สิบแปดมงกุฎทินเดอร์”
การเล่าเรื่องในสารคดี “The Most Hated Man on the Internet ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต” ที่ดำเนินเรื่องได้สนุก ตื่นเต้น และน่าติดตาม เพราะว่าได้ทีมผู้สร้างจากเรื่อง “Don’t F**K with Cats: Hunting an Internet Killer” และ “The Tinder Swindler” ซึ่งพุ่งเป้าไปที่บุคคลที่เสพติดกับการกระทำอะไรบางอย่างที่ผิดกฎหมายและก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
8. ปัจจุบันชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ตทำอะไรอยู่?
สำหรับเหยื่อของ “ฮันเตอร์ มัวร์” คงไม่ถูกใจสิ่งนี้ เพราะเขายังใช้ชีวิตอยู่ดีมีสุข หลังออกจากเรือนจำและทำเงินได้มหาศาลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เขามีบัญชีโซเชียลมีเดียหลายอัน แต่ที่โดนแบนแล้วสองอันคือ “Facebook” และ “Twitter” แต่นั่นไม่กระเทือนรายได้ที่เขาทำได้ต่อเดือนแม้แต่น้อย เพราะล่าสุดที่เขาเปิดเผยรายได้สุทธิของตัวเองคือ เมื่อ 9 มีนาคม 2021 โดยโพสต์ผ่านทางทวิตเตอร์ (ก่อนถูกระงับบัญชี) ระบุว่า “วันนี้ผมอายุ 35 ปี ยังไม่แต่งงานและไม่มีลูก มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารเกือบ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 106 ล้านบาท) และผมกำลังยุ่งมาก ๆ” ซึ่งเงินที่ได้มา ก็มาจากการลงทุนเมื่อเดือนมีนาคม 2021
9. “ฮันเตอร์ มัวร์” ตัวจริงรีวิวสารคดีเรื่องนี้ 3 คำว่า “เฮง ซวย มาก”
“ฮันเตอร์ มัวร์” ก็เหมือนกับอาชญากรจากซีรีส์สารคดีอาชญากรรมสร้างจากเรื่องจริงเรื่องอื่น ๆ ของ “Netflix” ที่ต้องชมเรื่องราวของตัวเองที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาคนอื่น ซึ่งเขาได้รีวิวสารคดี “The Most Hated Man on the Internet ชายที่คนเกลียดที่สุดในอินเทอร์เน็ต” ไว้สั้น ๆ ได้ใจความว่า “ร้อยละ 60 ของสารคดีนี้เฮงซวยมาก (60% of the documentary is bulls***)” และยังบอกทิ้งท้ายความเห็นดังกล่าวว่า “ทางทีมผู้สร้างสารคดีไม่ยอมให้เขาเล่าเรื่องประกอบบางอย่าง ผมต้องพูดในสิ่งที่พวกเขาอยากให้พูด ไปตายซะ”
ขณะที่ผู้กำกับสารคดี “ร็อบ มิลเลอร์ (Rob Miller)” ระบุว่า ทางทีมผู้ผลิตสารคดีก็ใส่ทุกอย่างที่เขาพูดลงไปหมดแล้ว แล้วบทสัมภาษณ์ที่เขาให้ก็มักจะพูดวนไปวนมาซ้ำซาก และเขาก็มักจะแก้ตัวว่า “ผมเมา ทำให้ผมไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองสักเท่าไหร่ ตอนนั้น”
เพื่อน ๆ ที่ชอบเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนสร้างจากเรื่องจริงแนว “The Tinder Swindler สิบแปดมงกุฎทินเดอร์” และ “Inventing Anna แอนนา มายา ลวง” จะต้องชอบสารคดี “Netflix” เรื่องนี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญเรื่องนี้มีเพียง 3 ตอนสั้น ๆ ให้ชมเท่านั้น อีกทั้ง มีเนื้อหาเป็นอุทาหรณ์ชั้นดีสำหรับหนุ่มสาวสายเสียวที่ชอบโพสต์รูปโป๊วาบหวิวตัวเองลงโซเชียลมีเดีย (แม้จะตั้ง Only Me เห็นคนเดียวก็ตาม) เพราะไม่รู้ว่า วันไหนแฮกเกอร์ตัวร้ายจะแอบเจาะข้อมูลของคุณไป!
ที่มาข้อมูล: Cosmopolitan, Pro Sports Extra, Good To, Newsweek และ Cinema Blend
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผย 12 เรื่องจริงเกี่ยวกับหนัง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ที่กำลังฮิตบน Netflix
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: 17 เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับซีรีส์ “Inventing Anna แอนนา มายา ลวง”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: 20 เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดี “The Tinder Swindler สิบแปดมงกุฎทินเดอร์”