หากเพื่อน ๆ เป็นคนชอบประวัติศาสตร์โลกจะรู้ดีว่า โลกในอดีตของเราก่อนที่อุกกาบาตจะพุ่งชนโลก เคยมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ไดโนเสาร์” อาศัยอยู่ทั้งบนบก, ในน้ำ และอากาศ ในยุคดึกดำบรรพ์นี้เอง นอกจากมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์แปลก ๆ ที่เราไม่เคยเห็นในปัจจุบันแล้ว พวกมันยังมีจุดเด่นอยู่ที่ “ขนาดตัวที่ใหญ่มาก”
แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป, การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อาหาร และภัยพิบัติที่กระทบชีวิตสิ่งมีชีวิตบนโลก ส่งผลให้สัตว์แต่ละสายพันธุ์ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ใครอ่อนแอก็สูญพันธุ์ไป ผู้ที่อยู่รอดก็มีรูปร่างและความเป็นอยู่ที่ไม่เหมือนเดิม พวกมันต่างมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าที่เราเห็นอยู่ตามธรรมชาติ หรือสวนสัตว์นั่นเอง
แต่จะมีสัตว์อะไรบ้างที่เคยมีขนาดใหญ่ในอดีต แต่ปัจจุบันมีรูปร่างเล็กปุ๊กปิ๊กตะมุตะมิบ้าง? ตาม The Joi ไปดูกันเลย!
1. ลิงยักษ์ (The Huge Ape หรือ Gigantopithecus)
เจ้า “อุรังอุตัง” ที่เพื่อน ๆ เห็นในสวนสัตว์ปัจจุบัน นั้นมีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์ สูงประมาณ 120-180 เซนติเมตร หากมันยืนตัวตรงสองขา และมีอายุขัยประมาณ 35-45 ปี มักพบอาศัยอยู่ในป่าร้อนชื้นของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ในอดีตเจ้า “อุรังอุตัง” มีบรรพบุรุษตัวสูงใหญ่มาก ชื่อว่า “ไจแกนโตพิธิคัส” เป็นลิงไม่มีหางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบมา หากมันยืนสองขาจะมีความสูงประมาณ 180-300 เซนติเมตร และน้ำหนักมากถึง 200-500 กิโลกรัม เชียวล่ะ!

(ซ้าย) ลิงยักษ์ และ (ขวา) อุรังอุตัง
2. คาร์โบเนมิส (Carbonemys)
ใคร ๆ ก็รู้ว่า “เต่า” เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกของเรามานานกว่า 200 ล้านปี แถมพวกมันยังมีอายุขัยที่ยืนยาวมากถึง 150 ปี หรือมากกว่านี้ และพวกมันยังเป็นสัตว์ที่เคยมีขนาดใหญ่กว่าที่เราเห็นในปัจจุบันอีกด้วย เพราะบรรพบุรุษของเจ้า “เต่าคอพับแอฟริกัน” ที่มีชื่อว่า “คาร์โบเนมิส” ในยุคดึกดำบรรพ์ มันมีขนาดตัวใหญ่เท่ากับรถยนต์คันหนึ่ง! มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 170 เซนติเมตร ที่สำคัญมันยังมีกรามที่ทรงพลังสามารถกัดจระเข้ให้ขาดเป็นชิ้น ๆ ได้แบบสบาย ๆ ด้วยล่ะ

(บน) คาร์โบเนมิส และ (ล่าง) เต่าคอพับแอฟริกัน
3. ไดโนซูซุส (Deinosuchus หรือจระเข้ยักษ์)
“จระเข้” เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในโลกปัจจุบันก็จริง แต่เมื่อ 72-82 ล้านปีก่อน พวกมันมีบรรพบุรุษชื่อว่า “ไดโนซูซุส” หรือ “จระเข้ยักษ์” ซึ่งมีขนาดลำตัวยาวกว่า 11 เมตร และหนักประมาณ 6-7 ตัน หากเทียบกับจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งมีความยาวมากสุด 4.8 เมตร และหนัก 1-1.3 ตัน เพื่อน ๆ คงเห็นภาพที่ชัดเจนมากว่า เจ้า “จระเข้ยักษ์” บรรพบุรุษของจระเข้ในยุคปัจจุบัน นั้นตัวยาวและน้ำหนักมากกว่าถึง 2-3 เท่า! และเป็นผู้ล่าไดโนเสาร์

(บน) ไดโนซูซุส และ (ล่าง) จระเข้
4. ไททันโนโบอา (Titanoboa หรืองูยักษ์)
“ไททันโนโบอา” เป็นบรรพบุรุษของสายพันธู์งูยักษ์อย่าง “งูโบอา” และ “งูอานาคอนดา” แต่น่าเศร้า หรือจะดีใจ? เพราะเจ้างูสายพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือแต่เพียงลูกหลานขนาดย่อมเยาให้เราได้เห็นเท่านั้น เพราะเจ้า “ไททันโนบาอา” หากเทียบกับงูที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบันอย่าง งูอนาคอนดาเขียวแล้ว มันมีลำตัวยาวประมาณ 12 เมตร ยาวมากกว่างูอนาคอนดาเขียวถึง 2 เท่า และมีน้ำหนักตัวประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่างูอนาคอนดาเขียว 1 ตัน

(บน) ไททันโนโบอา และ (ล่าง) งูอนาคอนดาอเมซอน
5. เม็กกาโลดอน (Megalodon)
ใครที่ชอบดูหนังเกี่ยวกับฉลามจะต้องรู้จักบรรพบุรุษของปลานักล่าตัวใหญ่มหึมาอย่าง “เม็กกาโลดอน” เพราะมันเป็นฉลามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยค้นพบมา พบว่า อาศัยอยู่ในท้องทะเลเมื่อ 66-145 ล้านปีก่อน มันมีลำตัวยาวประมาณ 16-18 เมตร หรือมีขนาดเท่ากับรถบัสสองชั้นจำนวน 2 คันต่อกัน และมีน้ำหนักราว 100 ตัน ชอบกินปลา, แมวน้ำ, โลมา รวมทั้งวาฬด้วย ขณะที่ฉลามที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน คือ “ฉลามขาว” ซึ่งเป็นลูกหลานเหลนโหลนของ “เม็กกาโลดอน” กลับมีความยาวเพียง 6.4 เมตร และหนักว่า 2.5 ตันเท่านั้น หรือหนักเทียบเท่ากับกระบะคันโตคันหนึ่ง

(บน) เม็กกาโลดอน และ (ล่าง) ฉลามขาว
6. เมกานิวร่า (Meganeura)
“แมลงปอ” ตัวน้อยตัวนิดแสนน่ารักขนาดเท่าจานรองแก้ว ที่เด็ก ๆ ต่างชื่นชอบไม่แพ้ผีเสื้อที่มีปีกสีสันสดใส เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ในอดีตมีรูปร่างใหญ่โตมาก บรรพบุรุษของเจ้าแมลงปอนั้นมีชื่อว่า “เมกานิวร่า” อาศัยอยู่บนโลกของเราเมื่อ 300 ล้านปีก่อน แค่ปีกข้างหนึ่งของมันก็มีความยาวกว่า 70 เซนติเมตร และนักวิทยาศาสตร์ก็พบ “เมกานิวร่า” ตัวสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่บนโลกในประเทศฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 หลายคนสันนิษฐานว่า สาเหตุที่ “เมกานิวร่า” มีขนาดตัวที่ใหญ่โตมากเป็นเพราะในอดีตมีปริมาณออกซิเจนในอากาศสูงกว่ายุคที่เราอยู่กัน

(ซ้าย) เมกานิวร่า และ (ขวา) แมลงปอ
7. โฟรัสราซิแด (Phorusrhacidae หรือนกสยองขวัญ)
“โฟรัสราซิแด” มันเป็นนกที่มีขนาดใหญ่และสูงราว 3 เมตร! แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นนก แต่ด้วยขนาดตัวที่มหึมาก็ทำให้มันต้องเดินเพ่นพ่านไปมาบนดินแบบเดียวกับมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่า เจ้า “โฟรัสราซิแด” เคยอาศัยอยู่กันเป็นฝูงแถบทวีปอเมริกาใต้เมื่อ 60 ล้านปีก่อน และจากซากโครงกระดูกที่เหลืออยู่บนโลกของเรา ไม่ว่าจะกะโหลกศีรษะที่ใหญ่โต, จงอยปากที่แข็งแรงเจาะกะโหลกสัตว์แตกได้ง่าย ๆ, กรงเล็บที่แหลมคม และความสามารถในการวิ่งที่รวดเร็ว ก็ทำให้มันได้รับฉายาว่า “นกสยองขวัญ (Terror Bird)” และจากลักษณะของเจ้านกตัวนี้ ก็ทำให้เราได้รู้ว่า มันเป็นบรรพบุรุษของนกแก้วและนกเหยี่ยวนั่นเอง

(ซ้าย) โฟรัสราซิแด และ (ขวา) นกแก้ว
และนี่คือ 7 สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ในอดีต แต่ปัจจุบันตัวเล็กปุ๊กปิ๊ก บ้างก็ออกมาน่ารัก และบ้างก็ยังคงน่าเกลียดน่ากลัวเหมือนเดิม แล้วเพื่อน ๆ อยากให้ตัวไหนกลับมาตัวใหญ่เหมือนในยุคดึกดำบรรพ์กันบ้าง?
ที่มาข้อมูล: Bright Side
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ส่อง 23 ภาพมนุษย์ต่างดาวสร้างตัวเองจากกะโหลกสัตว์ขึ้นมาใหม่ หน้าตาของพวกมันจะชวนอึ้งหรือทึ่งกันแน่?
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: แตกต่างเหมือนกัน! พาส่อง 20 ภาพโฉมหน้าของเหล่า “สัตว์เผือก” แม้ไม่มีสีสัน..แต่ก็ยังน่ารัก!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เปิดโพล 30 อันดับสัตว์โลกที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุด ทายถูกกันไหม? มาดูกัน!