ประเทศไทย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีการเดินประท้วงและชุมนุมทางการเมืองของประชาชนนับหลายหน จนถึงปัจจุบันนี้ การประท้วงของประชาชนชาวไทยก็ยังคงมีให้เราได้เห็นและเข้าร่วม และด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป การประท้วงไม่ได้เป็นเพียงการรวมตัวชุมนุมของคนที่เห็นพ้องต้องกันและชูป้ายเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับความแปลกและสนุกสนานอีกด้วย
The Joi จึงได้รวบรวม “6 การประท้วงแปลกในไทย” ที่ทุกคนจะได้เห็นพัฒนาการการประท้วงของชาวไทย บอกเลยว่าครีเอทแบบสุด ๆ
1. “คาร์ม็อบ (Car Mob)” บีบแตรไล่นายกฯ
การประท้วงดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สด ๆ ร้อน ๆ กันเลยทีเดียว โดยมี “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด เป็นแกนนำจัดกิจกรรมและนำขบวนคาร์ม็อบ พร้อมด้วยมวลชน “กลุ่มไทยไม่ทน” “สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” เดินสายยื่นหนังสือเรียกร้องถึง 4 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยเมื่อเสร็จสิ้นได้เคลื่อนขบวนต่อไปตามเส้นทางถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท และมาสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ ในแต่ละจุดหมายก็จะกดแตร์รถดัง ๆ ยาว ๆ เป็นการไล่นายกฯ เชิงสัญลักษณ์ด้วย
นับเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ที่ใช้อารมณ์ขัน ความสนุก ลดความตึงเครียด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเลือกใช้ “รถ” แทน “คน” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในหมู่ผู้ชุมนุม
2. กิน “หมูกระทะ-กุ้งเผา” ประท้วง
การกิน “หมูกระทะ” อาหารประจำชาติไทย (สมัยใหม่) ถูกนำมาใช้เป็นกิจกรรมในการประท้วงของ “คณะราษฎร“ ที่ฮือฮาบนโลกออนไลน์มากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง โดยนัดรวมตัวกินหมูกระทะ ซึ่งต้องพรีออเดอร์ล่วงหน้า หนึ่งชุดทานได้ 2-3 คน ประกอบด้วย หมูหมัก กุ้ง หมึก แฮม เบคอน สามชั้นสไลด์ ชุดผัดสด น้ำจิ้มซีฟู้ดและสุกี้สูตรเด็ด ชุดละ 599 บาท จำกัด 30 ชุด เปิดรับสั่งจองผ่าน inbox เท่านั้น และยังมีการออเดอร์ “กุ้งเผา” กินในที่ชุมนุมอีกด้วย
กิจกรรมนี้ จัดขึ้นช่วงวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2563 บนถนนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้ารัฐสภาเกียกกาย และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม “กินหมูกระทะ” ประท้วง เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง, พ.ร.บ.การจราจรทางบก เรื่องห้ามวางสิ่งกีดขวางทางเท้าหรือที่สาธารณะ รวมทั้ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข ในการห้ามประกอบอาหารและรับประทานอาหารในที่สาธารณะหรือบนทางเท้า
3. ถือ “ตุ๊กตาแฮมทาโร่ (Hamtaro)” วิ่งประท้วง
การถือ “ตุ๊กตาแฮมทาโร่” วิ่งประท้วง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมชื่อว่า “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” ผู้ริเริ่มกิจกรรมเผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าเป็นไป เพื่อสะท้อนข้อเรียกร้องของเยาวชนให้ปรากฏในสายตาสื่อ โดยกิจกรรมนี้จัดร่วมกับ “กลุ่มนวชีวิน” และได้นำเพลงจากการ์ตูนญี่ปุ่น มาดัดแปลงเนื้อหาบางช่วง เช่น ประโยค “วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่…ของอร่อยที่สุด ก็คือ ภาษีประชาชน” ในการชุมนุมอาจจะดูแปลก แต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นี้ แสดงออกถึงการที่นักกิจกรรมทางการเมืองมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำมาตอบโต้กฎหมายที่ถูกใช้ เพื่อลงโทษประชาชนผู้วิพากษวิจารณ์หรือล้อเลียนเจ้าหน้าที่
4. “แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter)” เสกคาถาเวทมนตร์ ปกป้องประชาธิปไตย
ม็อบ “แฮร์รี่ พ็อตเตอร์” นับว่าเป็นอีกหนึ่งการประท้วงที่สร้างสรรค์ของเยาวชนไทย ที่นำภาพยนตร์ดังที่ทุกคนต่างรู้จักมาเชื่อมโยงกับการเมือง กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าร้าน McDonald’s สาขาราชดำเนิน โดยผู้ชุมนุมต่างสวมชุดแม่มดพ่อมด หรือตัวละครต่าง ๆ ในวรรณกรรม “แฮร์รี่ พอตเตอร์”
จุดมุ่งหมายของการชุมนุมนี้คือ เพื่อปกปักรักษาประชาธิปไตย และขับไล่อำนาจมืดจาก #คนที่คุณก็รู้ว่าใคร โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ
1. ให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
และ 3. ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย
5. MOB FEST
แกนนำหลักจัด “Mob Fest” คือ สิรภพ อัตโตหิ นิสิตชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในนามกลุ่มคณะเสรีเทยพลัส และ กานต์นิธิ ลิ้มเจริญ แกนนำกลุ่มประชาลาด และเครือข่ายนักศึกษาพระจอมเกล้าฯ
แกนนำได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า “Mob ตอนนี้กลายเป็นคำที่แปลว่า การรวมพลของมวลชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วน Festival แปลว่า งานรื่นเริงเราเลือกใช้สองคำนี้เพื่อแสดงถึงจุดยืนของเราที่จะต่อสู้ร่วมไปกับขบวนใหญ่อย่างเบิกบาน เราเชื่อว่าการต่อสู้มีหลายแบบ และ Soft power ก็สำคัญไม่แพ้รูปแบบอื่น”
ตัวอย่าง Mob Fest ที่เราได้เห็นและเป็นไวรัล เช่น กิจกรรม “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” และ “ปิดถนนสีลมจัด“สตรีต อาร์ต”
6. นัดกินแมคฯ
กิจกรรมนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยมี “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด เช่นเคย เป็นผู้จัดกิจกรรม “นัดกินแมค” ที่สี่แยกราชประสงค์ ใครที่ใส่ชุดนักเรียนมากินฟรี! พร้อมกับยกป้าย “ที่นี่มีคนตาย” เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำม็อบ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับไอเดียประท้วงแปลกของชาวไทย และอย่าลืมว่า การประท้วงสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปใต้กรอบกฎหมายของไทย และพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ศาลทหารสั่งจำคุก 3 ปี “ไป่ ทาคน” ฐานร่วมประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมียนมา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: สาวพาเพื่อนเพิ่งคลอดนั่งสระเป่าลมกลับบ้าน ตัดพ้อเรือว่างหน้ารพ. เพียบแต่รอรับนายกฯ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: วัยรุ่นม็อบดินแดงถูกจับ 18 ราย พร้อมยึดจักรยานยนต์อีก 31 คัน แถมทำลายโรงพยาบาลและทรัพย์สินราชการ