ก่อนมี “น้องมายด์ น้องเพนกวิ้น น้องรุ้ง น้องไมค์ หรือน้องอานนท์” เซเลบแห่งการชุมนุมรุ่นเยาว์ ที่ป็อบจากการก่อการชุมนุมทางการเมือง “ไล่นายกฯ” และ “แก้รัฐธรรมนูญ ล้างบางส.ว. โหวตเลือกนายกฯ”
ก็มีคุณป้านักสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นเดอะ นำร่องมาก่อน แม้ว่าพวกเธอจะไม่ได้โดดเด่นจนเป็นแกนนำ แต่เชื่อว่าทุกคนต้องคุ้นหน้าของพวกเธอกันอย่างแน่นอน เพราะมักปรากฏอยู่บนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง จนเป็นเซเลบแห่งการชุมนุมไปโดยปริยาย และ The Joi ได้รวบรวมประวัติของทั้ง 5 คน มาไว้ที่นี่แล้ว!
1. ป้าเป้า (ฉายา “พระมหาเทวีเป้า)
ยืนหนึ่งนัมเบอร์ 1 ไม่มีใครทัดเทียมในหมู่มนุษย์ป้านักสู้เพื่อประชาธิปไตย จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “ป้าเป้า” หรือ “นางวรวรรณ แซ่อั้ง” อายุ 67 ปี ผู้นี้ ล่าสุดได้รับการอวยยศเป็น “พระมหาเทวีเป้า” กับผลงานยืนหนึ่งเรื่องด่าที่ไร้เทียมทาน เป็นเครื่องด่ามหาประลัย ขวัญใจชาวม็อบในปัจจุบัน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐบาลที่ดีกว่า เพื่อลูกหลานจะได้มีอนาคตที่สดใส ไม่ลำบากเหมือนชีวิตป้าที่ผ่านมา
มีผลงานโดดเด่นตราตรึงชาวไทยด้วยการ “ตบเป้าตำรวจ” หลังตำรวจจับคนเขียนป้ายผ้ากลางอนุสาวรีย์ชัยฯ ม็อบ 16 มกราคม 2564 ที่จัดกิจกรรม เขียนป้ายผ้า 112 เมตร จนหลายคนแซวว่า “ป้าจะโดนข้อหาทำลายของหลวงหรือไม่?”
“ป้าเป้า” เริ่มเข้าร่วมชุมนุมครั้งแรกในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยอายุเพียง 17 ปี หลังหนีออกจากบ้าน มาอยู่แถวสะพานวันชาติ กรุงเทพฯ เธอได้อยู่ในเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนวิ่งหนีลูกปืน แต่ครั้งนั้นเธอไม่ได้เข้าร่วมด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการจะโค่นล้มเผด็จการ เพียงต้องการเข้ามาหาประสบการณ์ตามวัยของตนเท่านั้น
ในปี 2549 “ป้าเป้า” ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง หลังจากที่มีเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนถึงปี 2553 และล่าสุดก็ได้เข้าร่วมชุมนุมกับ “กลุ่มคณะราษฎร” ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แน่วในการโค่นล้มระบอบเผด็จการ
แม้ชีวิตในม็อบป้าจะดูจอย แต่ชีวิตหลังม่านม็อบ “ป้าเป้า” นั้นยิ่งกว่าละครน้ำเน่า เพราะเธอจบเพียงแค่ป. 4 เคยเป็นโสเภณี ที่ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว 9 ชีวิต ที่ไม่มีจะกิน กลางวันเป็นแม่ค้าหาบเร่ กลางคืนก็ต้องผันตัวมาเป็นโสเภณี ปัจจุบัน “ป้าเป้า” เป็นแค่แม่ค้าขายผลไม้เท่านั้น
2. ป้านก
“ป้านก” หรือ “นภัสสร บุญรีย์” อดีตเคยเป็นช่างอัญมณีระดับหัวหน้า ทำหน้าที่ฝังเพชรพลอยบนตัวเรือนเครื่องประดับ เริ่มสนใจเรื่องประชาธิปไตยและการเมืองในปี 2535 โดยมีจุดเริ่มต้น คือ การมาซื้อของลดราคาที่ห้างพาต้า เห็นคนชุมนุมที่สนามหลวง เลยไปลองฟัง “พลตรีจำลอง ศรีเมือง” พูด แล้วก็ชอบ มองว่าเหมือนวีรบุรุษ หลังจากนั้นเลิกงานก็ต้องไปนั่งฟัง พลตรี จำลอง ทุกวัน
เมื่ออินกับการเมืองอย่างลึกซึ้ง ในที่สุด “ป้านก” ได้กลายเป็นมวลชนต่อต้านเผด็จการ รสช. และอยู่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมปี 2535 และในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 โดนให้ถอดเสื้อ แล้วนอนคว่ำอยู่กลางถนน ตั้งแต่ทุ่มกว่าจนถึงเกือบเที่ยงคืน และในปี 2548-2549 “ป้านก” แวะเวียนไปที่ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน “ป้านก” ไม่ได้ทำอาชีพจิวเวอรี่แล้ว และว่างงานเต็มตัว เนื่องจากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อย ๆ ในปี 2553 “ป้าทิ้งงานไป เจ้านายเลยให้ออก” และบอกว่าได้เสียเงินหลายแสน ไปกับการชุมนุม แต่เธอก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว เพราะการมาชุมนุมทำให้ได้ฟังใครหลาย ๆ คน เพราะทุกคนให้ความรู้ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง
3. ป้าอึ่ง
“ป้าอึ่ง” หรือ “ประนอม พูลทวี” ผู้รับจ้างเป็น “แม่บ้าน” เป็นรายได้เสริม ผู้จัดสรรเวลาเพื่อเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและประคับประคองชีวิตได้อย่างไม่สะดุด เริ่มสนใจการเมืองโดยมีจุดเริ่มต้นจากการไปฟังการปราศรัยเวที กปปส. ก่อน แต่ภายหลังพบว่า ตัวเองถูกใจข้อมูลและการปราศรัยของคนเสื้อแดงมากกว่า “ป้าอึ่ง” จึงร่วมเคลื่อนไหวเต็มตัวในหลายกิจกรรม รวมทั้ง การนั่งรถไฟส่องกลโกงราชภักดิ์
จากเหตุการณ์นั่งรถไฟส่องกลโกงราชภักดิ์นั้นเอง ทำให้ป้าถูกกักตัวนาน 8-9 ชั่วโมง และบอกว่าทหารบังคับให้ทุกคนที่โดนควบคุมตัววันนั้น กล่าวคำปฏิญาณว่า “รักชาติและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์” ซึ่ง “ป้าอึ่ง” พูดโต้ตอบกลับว่า “ชาติ ในหลวง เรารักของเราอยู่แล้ว คุณไม่ต้องมาพูดเยอะแยะอะไร”
4. ป้ามาศ
“ป้ามาศ” หรือ “จุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย” เป็นแม่บ้านอีกคนที่สนใจประชาธิปไตย เมื่อก่อนเธอมีงานหลักคือ “การขับรถรับส่งแฟน” ซึ่งทำงานซ่อมเรือสินค้าอยู่เป็นประจำ หลังจากแฟนเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีก่อน โลกของ “ป้ามาศ” ก็เริ่มมีการเมืองเข้ามา ซึ่งแต่ก่อนเธอไม่เคยเข้าร่วม หลังแฟนเสียชีวิต เหงาเลยออกมาชุมนุมปราศรัย แล้วก็พบว่าสนุก ได้พบปะสังสรรค์ และมีกิจกรรมทำมากมายเกิดขึ้นภายในกลุ่มคนผู้มีจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน
“ป้ามาศ” เคยไปเยี่ยม “ไผ่ ดาวดิน” ที่จังหวัดขอนแก่น โดยไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เพราะความสงสาร เธอเองยังเคยมีประสบการณ์ถูกออกหมายจับเพียงเพราะออกมาถือป้าย “ขอเลือกตั้ง” เท่านั้น เรียกว่าป้าจับพลัดจับผลูมาเข้าสู่วงการเมือง และกลายเป็นเซเลบการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจ
5. ป้านัต
“ป้านัต” หรือ “นัตยา ภาณุทัต” แม่ค้าขายกระเป๋าตามตลาดนัด จุดเริ่มต้นทางการเมืองเกิดจากความสนใจทางวิชาการและความรู้ต่าง ๆ ความสนใจนี้นี่เองที่ทำให้ “ป้านัต” ได้ศึกษาการเมืองและเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง เริ่มในช่วงปี 2549 ลูกกำลังต้องเรียนเลยไม่ค่อยสนใจ แต่ถูกผลักให้เป็นเสื้อแดง เพราะว่าช่วงที่เขาไปชุมนุมกัน “ป้านัต” จะอยู่ละแวกนั้น แต่อย่างดีก็แค่ไปดูเขาไฮด์ปาร์กกัน และในช่วงปี 2553-2554 ก็แวะเวียนผ่านไปเฉย ๆ ไม่ได้สนใจอะไร เพราะช่วงนั้นกำลังทำมาหากิน
แต่แล้วในปี 2557 เป็นช่วงที่ลูกเรียนจบ ก็เกิดการรัฐประหารพอดี “ป้านัต” พอจะมีเวลาว่างแล้ว เพราะทำมาค้าขายแบบ “เช้าขาย บ่ายเก็บ” ช่วงเวลาว่างก็มานั่งวิเคราะห์ว่า ตอนแรกไม่คิดว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับตัวเอง แต่สัก 2-3 ปีผ่านไป คือ “ป้าค้าขายเริ่มฝืด” ก็มานั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเรามีการปกครองโดยทหารหรือเปล่า? แล้วค่อย ๆ หันมาเล่นเฟซบุ๊ก ลองตามข่าว เลยเห็นว่ามันเป็นเพราะเหตุนี้นะ ก็ไม่ได้เชื่อว่าใครพูดถูกพูดผิด แต่มาวิเคราะห์เอง จากนั้นเป็นต้นมา “ป้านัต” จึงเริ่มออกมา เริ่มจากงานเสวนาของพวกอาจารย์ พวกนักศึกษา เราตามไปนั่งฟัง แล้วเห็นว่ามีเหตุมีผล ทำให้ป้าต้องออกมา
พลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหล่าป้านักสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้ง 5 นี้ สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ เจตนาดีที่ต้องการจะเรียกร้องให้มีรัฐบาลที่ดี เพื่อบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนมีกินมีใช้ ที่สำคัญบรรดาป้า ๆ ยังเป็นตัวอย่างของนักขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ดี คือ ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นพลัง สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ต่อสู้ เพื่อความเจริญและความถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ดังนั้น อย่าดูถูก “พลังมนุษย์ป้า” เชียว!
ที่มาข้อมูล Bright TV, the101.world, มติชนออนไลน์