โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณข้อมูลข่าวสารหลั่งไหล่ไปมาอย่างรวดเร็ว และจากข้อมูลของเว็บไซต์ตรวจสอบ Fake News ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ล่าสุด ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Fake News บนโลกออนไลน์ไทยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2564 พบว่ามีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และแชร์ข่าวปลอมมากถึง 20,294,635 คน ในจำนวนนี้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนอายุ 18-34 ปี
สาเหตุที่ทำให้มีการโพสต์และแชร์ข่าว Fake News จำนวนมหาศาล เป็นเพราะความนิยมชมชอบการเสพข่าวออนไลน์ที่มีความรวดเร็วทันท่วงทีของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ข่าวออนไลน์บางส่วนไม่ได้รับการกลั่นกรองคุณภาพและความถูกต้องก่อนโพสต์ จึงทำให้ผู้อ่านกลายเป็นเหยื่อหลงเชื่อข้อมูล Fake News แบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกระบุว่า เป็นข่าวหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข่าวหรือข้อมูลที่เผยแพร่และแชร์ต่อ ๆ กันมา ทั้งบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือไลน์ เป็นข่าวจริง ไม่ใช่ข่าวปลอม หรือ Fake News? The Joi จึงได้รวบรวมเว็บไซต์ตรวจสอบ Fake News ฝีมือคนไทยเพื่อคนไทย ใช้งานง่าย มีทั้งหมด 4 เว็บไซต์ มาฝากทุกคน!
1. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand)
“ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม“ หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ “Anti-Fake News Center Thailand” ก่อตั้งและดำเนินการภายใต้ความดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยเปิดให้ประชาชนใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เน้นตรวจสอบข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน คาดหวังให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเผยแพร่ต่ออย่างรู้เท่าทันสื่อ โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ สื่อมวลชน ทำหน้าที่วางแผนกำกับการดำเนินงาน และแผนการเผยแพร่ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ข่าวที่เป็นกระแสในโลกโซเชียลอย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ
การใช้งานง่ายมาก เพียงแค่พิมพ์ชื่อข่าวที่ต้องการเช็คว่าเป็น Fake News หรือไม่ หรือหากจำชื่อไม่ได้ ก็สามารถกดค้นหาข่าวปลอม หรือเลื่อนลงมาดูส่วนที่เป็นหัวข้อ “ข่าวที่กำลังอยู่ในความสนใจ” ก็ได้ และบนเว็บไซต์ตรวจสอบ Fake News ของภาครัฐนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถกดแจ้งเบาะแสข่าวปลอม หรือบิดเบือน เพื่อให้ทาง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” เข้าไปตรวจสอบได้อีกด้วย
2. ไทยดีไอแมชีน (THAI D.I. MACHINE)
“Thai D.I. Machine” เป็นเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ข่าวแบบอัตโนมัติ โดยใช้หลักการการตรวจข่าวด้วยวิธีการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อทำนาย หรือวิเคราะห์ข่าว ซึ่งผลการทำนาย หรือวิเคราะห์ สามารถนำไปสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ใช้ว่า ควรที่จะเชื่อในข้อความข่าว หรือเนื้อหาข้อมูลที่พบหรือไม่
คิดวิจัยและพัฒนานำโดย “รศ. ดร. พนม คลี่ฉายา” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
การใช้งานไม่ยาก เพียงพิมพ์ หรือคัดลอกคำ หรือข้อความข่าวที่สงสัยวางลงในกล่องข้อความตรวจสอบ กดปุ่มคำสั่งตรวจสอบแล้วรอผลการตรวจสอบ ซึ่งจะมีบอกให้ทราบ 5 ระดับ คือ ข่าวจริง ข่าวปลอม มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวจริง มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวปลอม และข่าวน่าสงสัย
3. #เช็กให้รู้ (Checkhairoo)
“#เช็กให้รู้” เป็นเว็บไซต์ตรวจสอบ Fake News ที่สร้างและพัฒนาขึ้นโดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับภาคีดำเนินงาน ได้แก่ นิเทศ ฯ นิด้า, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด เพื่อใช้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือข่าวปลอม โดยเน้นข่าวสารด้านสุขภาพเป็นหลัก ด้วยระบบอัจฉริยะต้นแบบ เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562
การใช้งานเพียงใส่ชื่อและเนื้อหาข่าวที่ต้องการตรวจสอบว่าเป็นข่าวปลอม หรือจริง เว็บไซต์จะประมวลผลข่าวดังกล่าวเป็น “แนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเป็นข่าวปลอม” ออกมาในรูปของเปอร์เซ็นต์ ดังรูปด้านล่าง
ส่วนใครที่ขี้เกียจพิมพ์ ก็สามารถค้นหาข่าวด้านสุขภาพที่ต้องการตรวจสอบได้จากหัวข้อ “บทความ” บนหน้าเว็บไซต์ก็ได้
4. โคแฟค (Cofact)
“Cofact“ หรือ “Collaborative Fact Checking” เว็บไซต์ตรวจสอบ Fake News ที่ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าว โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข่าว หรือข้อมูลบนเว็บไซต์ ช่วยกันแยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริงและความคิดเห็น ซึ่งเชื่อมั่นในวิจารณญาณของมนุษย์ มากกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอในการตรวจสอบ และข่าวดังกล่าวจะเชื่อถือได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์
โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้ อีกทั้งมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้ จากนั้น จะมีทีมเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนด้วย อีกทั้ง ยังช่วยพัฒนางานข่าวเชิงลึกด้วย
การใช้งานมีให้เลือกทั้งแบบบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน หากเลือกตรวจสอบบนเว็บไซต์ เพียงพิมพ์ชื่อข่าวที่ต้องการตรวจสอบในช่องค้นหา เช่น ค้นหาว่า “เชื้อไวรัสโควิดสามารถปะปนออกมากับควันบุหรี่ ใช่หรือไม่” ก็จะปรากฎผลการค้นหา หน้าตาบนหน้าต่างจะเหมือนกับเราอ่านกระทู้บน Pantip อย่างไรก็ตาม ตัวเว็บจะไม่ตัดสินว่าข่าวดังกล่าวเป็นจริง หรือเท็จแบบชัดเจนไปเลย จะเน้นให้ผู้ตรวจสอบได้อ่านความคิดเห็น หรือข้อมูลที่ปรากฎบนเว็บไซต์ แล้วนำไปพิจารณาด้วยวิจารณญาณของตนเอง ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ?
ขณะที่การตรวจสอบ Fake News บนแอปพลิเคชันสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ตาม 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. เปิดแอปพลิเคชันไลน์ ค้นหาเพื่อน แล้วพิมพ์ว่า @cofact
2. เมื่อกดเพิ่มเพื่อนเรียบร้อยแล้ว จะปรากฏข้อความแสดงการทักทายจาก Cofact ซึ่งทุกคนสามารถส่ง หรือแชร์ข้อความที่สงสัยลงไปในระบบได้เลย
3. จากนั้น “Cofact” จะดึงข้อมูลในระบบออกมา พร้อมกับมีแถบตัวอย่างข้อความให้เลือก หากเจอข้อความที่ตรงกับที่สงสัยและต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติมก็ กดเลือกข้อความนั้น ๆ ได้เลย
4. “Cofact” จะทำการสรุปว่าข้อความที่เลือกนั้น ว่ามีคนให้ความเห็นว่าจริง หรือหลอกลวงกี่ความเห็น และมีตัวอย่างแต่ละความเห็นให้ดูด้วย หากต้องการอ่านความเห็นใด ก็กดไปที่ความเห็นนั้น
เพียงแค่มี “4 เว็บไซต์ตรวจสอบ Fake News” ที่ The Joi รวบรวมมาฝาก ก็ไม่มีทางตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม ข่าวบินเบือนที่มาในหลากหลายรูปแบบอย่างแน่นอน ที่สำคัญอย่าลืมแชร์เรื่องราวดี ๆ นี้ กับคนใกล้ตัวของคุณ ไม่ว่าจะคนรัก เพื่อน หรือแม้กระทั่งญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเรากันด้วย
ที่มาข้อมูล ข่าวสดออนไลน์, Sanook, The Standard, ศูนย์ข้อมูลข่าวปลอม, เดลินิวส์, THAI D.I. MACHINE, Cofact และ #เช็กให้รู้