หลังจากวันที่ 26 ตุลาคม 2564 “เจ้าหญิงมาโกะ” พระราชนัดดาองค์โตในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ได้เข้าพิธีเสกสมรสกับ “นายเคอิ โคมูระ” คู่หมั้นหนุ่มสามัญชนแล้ว ในช่วงเช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น “เจ้าหญิงมาโกะ” ได้สละฐานันดรศักดิ์ออกจากราชวงศ์อย่างเป็นทางการ ก่อนจะเดินทางไปใช้ชีวิตคู่ร่วมกับสามีที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ
ข่าวดังกล่าว ทำให้ชาวเน็ตทั่วโลกทั้งยินดีในความรักอันหวานชื่นราวกับเทพนิยายของทั้งคู่ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเสียดายฐานันดรศักดิ์ที่ “เจ้าหญิงมาโกะ” สละ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาในตระกูลชั้นสูง เลือดสีน้ำเงิน
อย่างไรก็ตาม การสละฐานันดรศักดิ์ของสมาชิกราชวงศ์ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก เพราะก่อนหน้านี้ ก็เคยมีสมาชิกของราชวงศ์อื่น ๆ ทั่วโลก ที่ยอมสละฐานันดรศักดิ์ของตัวเอง ด้วยเหตุผลส่วนตัว ไม่ว่าจะเพื่อความรักหรืออิสรภาพ จะมีใครบ้าง ตาม The Joi ไปดูกันเลย!
1. เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล
“เจ้าชายแฮร์รี่” และ “เมแกน มาร์เคิล” คู่รักราชวงศ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับราชวงศ์อังกฤษ ได้ลุกขึ้นมาประกาศลดบทบาทการเป็นสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงของตัวเอง ทั้งคู่ได้ขอย้ายไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นอิสระทางการเงิน และจะสละคำนำหน้าพระนาม “HRH” ซึ่งหลังจากทั้งสองหมดหน้าที่ในฐานะราชวงศ์แล้ว ก็ยังถูกห้ามไม่ให้ใช้ “Sussex Royal” ในการกระทำใด ๆ อีกด้วย
2. กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 และวอลลิส ซิมป์สัน
“กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8” ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 บิดาของพระองค์ แต่เหตุการณ์ตกหลุมรักและประสงค์จะแต่งงานกับ “วอลลิส ซิมป์สัน” แม่ม่ายชาวอเมริกันของพระองค์ ทำให้เป็นที่ครหาและซุบซิบนินทาในประเทศอังกฤษอย่างมาก ทั้งองค์กรศาสนา การเมือง กฎหมาย รวมถึงรัฐบาลและราชวงศ์ก็ต่อต้านอย่างหนัก เพราะผิดต่อรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์จะแต่งงานกับคนที่มีประวัติการหย่าร้าง เมื่อไม่สามารถต้านทานเสียงนินทาและห้ามความรักที่มีต่อ “วอลลิส ซิมป์สัน” ได้ “กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8” ทรงยอมสละราชบัลลังก์หลังจากครองราชย์ได้ไม่ถึงปี เพื่อไปแต่งงานกับ “วอลลิส ซิมป์สัน” และทั้งสองได้ครองรักจนตราบพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1972
3. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และนายปีเตอร์ แลด เจนเซน
“ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” (พระยศในสมัยนั้น) ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เพื่อสมรสกับ “นายปีเตอร์ แลด เจนเซน” ชาวอเมริกัน หลังพระองค์ได้พบกับ “เจนเซ่น” ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัย MIT ในนครบอสตันของสหรัฐอเมริกา โดนอภิเษกสมรสในพระบรมหาราชวังตามราชประเพณีไทย แล้วเสด็จประทับที่สหรัฐฯ โดยทรงเปลี่ยนพระนามเป็น “จูลี เจนเซน” ทั้งคู่มีบุตร-ธิดารวม 3 คน
แม้ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” ทรงหย่ากับ “นายปีเตอร์ เจนเซน” แล้วเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย และประทับอยู่เป็นการถาวรมาตั้งแต่ปี 2001 พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ รวมทั้งทรงงานด้านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยในระดับนานาชาติด้วย
4. เจ้าหญิงซายาโกะและโยชิกิ คุโรดะ
หลายปีก่อนที่ “เจ้าหญิงมาโกะ” จะสละฐานันดรศักดิ์ เพื่อเข้าพิธีเสกสมรส ก่อนหน้านี้ในปี 2005 เคยมีสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นสละฐานันดรศักดิ์มาแล้ว นั่นก็คือ “เจ้าหญิงซายะโกะ” พระราชธิดาพระองค์เดียวใน “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” ทรงสละพระอิสริยยศทั้งหมด เพื่อเสกสมรสกับ “นายโยชิกิ คุโรดะ”
5. เจ้าชายฟิลิปและควีนเอลิซาเบธที่สอง
แม้ว่า “เจ้าชายฟิลิป” จะทรงเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอยู่แล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า “เจ้าชายฟิลิป” ทรงสละพระอิสริยยศ “เจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก” มาแล้วด้วย ก่อนที่จะอภิเษกสมรสกับ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” และหันมาทรงใช้นามสกุล “เมานต์แบตเทน” แทนนามสกุลเดิมของพระมารดา หลังจากนั้น “เจ้าชายฟิลิป” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบารอนแห่งกรีนิชและดยุกแห่งเอดินบะระ
6. เจ้าชายโยฮัน ฟริโซแห่งออเรนจ์-นัสเซา และมาเบล วิสส์ สมิธ แห่งนอร์เวย์
“เจ้าชายฟริโซ” พระราชโอรสองค์ที่สองใน “ราชินีเบียทริกซ์” ทรงสละราชสมบัติในราชบัลลังก์เมื่อปี 2004 เพื่อแต่งงานกับ “มาเบล วิสส์ สมิธ” แห่งนอร์เวย์ ซึ่งทำโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาดัตช์ หลังจากนั้น พระองค์ได้สละฐานันดรศักดิ์จากการเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 เพื่อไปใช้ชีวิตกับภรรยา และลูก ๆ 2 คน ได้แก่ “เคาน์เตสลูอานาแห่งออเรนจ์-นัสเซา” และ “เคาน์เตสซาเรียแห่งออเรนจ์-นัสเซา” จนกระทั่งปี 2013 “เจ้าชายฟริโซ” สิ้นพระชนม์ จากภาวะแทรกซ้อนจากอุบัติเหตุสกี ทั้งนี้ ครอบครัวของ “เจ้าชายฟริโซ” ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงเท่านั้น
7. เจ้าหญิงมาร์ธา ลุยเซอแห่งนอร์เวย์ และดูเร็ค เวอร์เรตต์
“เจ้าหญิงมาร์ธา หลุยส์” พระราชธิดาองค์โตของ “สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5” แห่งนอร์เวย์ ประกาศเป็นแฟนกับ “หมอผีดังเชื้อชาติแอฟริกัน” ชื่อว่า “ดูเร็ค เวอร์เรตต์” ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมสละฐานันดรศักดิ์เพื่อไปใช้ชีวิตกับผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ยกย่องว่า เป็นคู่แท้ที่ตามหามาทั้งชีวิต ใครแหลมเข้ามาวิจารณ์แฟนหนุ่มเป็นต้องเจอดี โดยเขาสืบเชื้อสายการเป็นหมอผีมาจากบรรพบุรุษเป็นรุ่นที่ 6 เขาเกิดและโตในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่หนุ่มบ้าน ๆ ไก่กาอาราเร่ แต่มีชื่อเสียงด้านการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลกด้วย
8. สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ถอดฐานันดรศักดิ์ของพระราชนัดดา 5 พระองค์จากการเป็นพระบรมวงศ์
เมื่อตุลาคม 2020 “สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ” แห่งสวีเดน มีพระราชโองการให้ถอดพระราชนัดดา 5 พระองค์ ได้แก่ พระโอรส 2 พระองค์ใน “เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป” และพระโอรสธิดา 3 พระองค์ใน “เจ้าหญิงมาเดอลีน” แต่พระราชโองการนี้ ไม่ได้หมายรวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาใน “เจ้าหญิงวิกตอเรีย องค์มกุฎราชกุมารี” ซึ่งเป็นผู้สืบสันตติวงศ์สายตรงด้วย
จุดประสงค์ก็เพื่อให้พวกเขาทั้งห้าคนได้ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน ไม่ต้องมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ให้วุ่นวาย ไม่ได้ดำรงพระยศขั้น “HRH (His/Her Royal Highness)” อีกต่อไป และพระราชนัดดาทั้ง 5 ของพระองค์ จะไม่ได้รับเงินรายปีที่รัฐบาลจัดถวายจากเงินภาษีของประชาชนอีกด้วย แต่ยังคงนับว่าเป็นเจ้าชาย หรือเจ้าหญิงในราชวงศ์สวีเดนอยู่ และจะยังคงมีฐานันดรเป็นดยุก หรือดัชเชสอยู่เช่นเดิม
9. เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ถอนตัวจากพระราชกรณียกิจ หลังพัวพันกับเจฟฟรีย์ เอปสตีน
กรณีของ “เจ้าชายแอนดรูว์” ดยุกแห่งยอร์ก พระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่เชิงว่าสละฐานันดรศักดิ์ แบบสละยศเจ้าชายทิ้งไปเป็นสามัญชนเหมือนกับคนอื่น แต่การที่เจ้าชายถอนตัวออกจากพระราชกรณียกิจของราชวงศ์ทั้งหมด ก็เหมือนกับไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษแล้ว แม้จะไม่เป็นทางการก็ตาม ภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่า “ถูกตัดหางปล่อยวัด” จากทางบ้านนั่นเอง
และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นหลังจากทรงให้สัมภาษณ์กับ BBC สื่ออังกฤษชื่อดัง เกี่ยวกับกรณีที่เจ้าชายทรงถูก “เวอร์จิเนีย โรเบิร์ต จุฟเฟรย์” หญิงชาวอเมริกัน ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเธอ ขณะที่เธออายุเพียง 17 ปี ทำให้ราชวงศ์อังกฤษเสื่อมเสียอย่างมาก ซึ่งเจ้าชายก็ยอมรับว่า “ทำผิด” จริง และขอโทษทุกคนที่ทำให้ผิดหวัง
10. เจ้าชายคุนเล แห่งไนจีเรีย และเคียชา
และเจ้าชายเจ้าหญิงคู่สุดท้ายที่สละฐานันดรศักดิ์ออกจากราชวงศ์ คือ “เจ้าชายคุนเล” แห่งไนจีเรีย โดยพระองค์ทรงแอบคบกับนางแบบสาวชาวอเมริกันเคียชา โดยไม่ยอมเปิดเผยสถานะที่แท้จริงมานานกว่า 2 ปี เมื่อเผยสถานะที่แท้จริง ก็ทำให้ “เคียชา” รู้สึกช็อกปนดีใจ และได้กลายเป็นเจ้าหญิงหลังอภิเษกสมรสกับเจ้าชายทันที
แต่ชีวิตในราชสำนักไนจีเรียไม่ไดราบรื่นอย่างที่คิด มีกฎข้อห้ามมากมายที่จำกัดอิสรภาพของพวกเขาทั้งสอง 4 ปีที่แล้ว “เจ้าชายคุนเล” เลยสละฐานันดรศักดิ์แล้วออกจากราชวงศ์ไนจีเรียฐาวร เพื่อให้ครอบครัวของพระองค์มีชีวิตที่อิสระ ปัจจุบันทั้งคู่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ และมักถูกเปรียบเปรยว่า เป็น “คู่รักเจ้าชายแฮร์รี่กับเมแกน มาร์เคิล 2” อีกด้วย
เจ้าหญิงเจ้าชายแต่ละพระองค์ต่างก็มีเหตุผลที่สละฐานันดรศักดิ์ออกจากราชวงศ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกพระองค์มีจุดประสงค์เดียวกันคือ เพื่อให้ครอบครัวของตัวเองมีความสุขที่สุด และสะท้อนให้เราเห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขกับการเป็นสมาชิกราชวงศ์อย่างที่เราติดภาพจำจากนิยายปรัมปรามาตั้งแต่เด็ก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ไอเท็มสไตล์เจ้าหญิง! ชี้เป้าฉลองพระองค์และเครื่องประดับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: 10 อันดับเจ้าหญิงดิสนีย์ที่มีชีวิตลำบากจากน้อยไปมากที่สุด