“การแสดง Pictograms” เป็นโชว์สุดว้าว! ที่เด่นสุดในพิธีเปิด Tokyo Olympic 2020 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่นอกจากผู้ชมจะได้รับความสนุกแล้ว รู้หรือไม่ว่า ยังมีสาระสนุก ๆ น่ารู้อีก 10 ข้อ ซ่อนอยู่ด้วย
1. Pictograms เกิดขึ้นครั้งแรกที่ “ญี่ปุ่น”
Pictogram คือภาพแสดงสัญลักษณ์ชนิดกีฬาต่าง ๆ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1964 ออกแบบและสร้างสรรค์โดย มาซาอากิ ฮิโรมุระ (Masaaki Hiromura) และ มาซารุ คาสึมิเอะ (Masaru Katzumie) เพื่อใช้สื่อสารกับผู้ชมและผู้เข้าร่วมงานทั่วโลก โดยใช้ภาพในการสื่อสารเป็นหลัก ก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านภาษา นับแต่นั้นเป็นต้นมา Pictograms ก็อยู่ในทุกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเสมอ
2. Pictograms ชุดแรก มีทั้งหมดเพียง 20 ภาพเท่านั้น
Pictograms ที่ใช้ครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1964 ที่ญี่ปุ่น มี 20 ภาพ จาก 20 ชนิดกีฬาเท่านั้น ได้แก่ กีฬาทางน้ำ, กรีฑา, บาสเก็ตบอล, มวย, พายเรือ, พายแคนนู, ปั่นจักรยาน, ขี่ม้า, ยูโด, ฟุตบอล, ยิมนาสติก, ฮ็อกกี้, ยิงปืน, วอลเลย์บอล, โปโลน้ำ, ยกน้ำหนัก, มวยปล้ำ, ฟันดาบ, กีฬาเรือใบ และปัญจกีฬาสมัยใหม่
3. ปัจจุบัน Pictograms ชุดล่าสุดใน Tokyo Olympic 2020 มีทั้งหมด 64 ภาพ 2 ดีไซน์
คือ แบบมีเฟรมหรือกรอบ กับ แบบไม่มีเฟรมหรือไม่มีกรอบ โดยใช้สีน้ำเงินเป็นสีพื้น
และมีสีดั้งเดิมของญี่ปุ่นอีก 5 สี เป็นสีย่อย ตามที่คณะกรรมการจัดงานอนุมัติ ได้แก่ สีแดงเข้ม (kurenai), สีฟ้า (ai), สีชมพูอ่อน (sakura), สีม่วง (fuji) และสีเขียว (matsuba) ซึ่งจะถูกใช้ในระหว่างเกมการแข่งขันด้วย
4. Pictograms มี 2 ดีไซน์ ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน
แบบที่ไม่มีเฟรม จะถูกใช้ในงานโปสเตอร์และสินค้าที่ระลึก ขณะที่ภาพแบบมีเฟรม จะถูกใช้ปรากฏบนแผนที่ ป้ายบนถนน ไกด์บุ๊ก และบนเว็บไซต์ของ Tokyo Olympic 2020
5. บางชนิดกีฬา ใช้ Pictograms มากกว่า 1 รูป
กีฬาแต่ละชนิด มีหลายประเภทแตกต่างกันไปอีก ดังนั้น Pictograms ก็จะทำมาเฉพาะเพื่อกีฬานั้น ๆ ด้วย เช่น กีฬาจักรยาน ที่มีทั้ง จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ จักรยานเสือภูเขา จักรยานถนน เป็นต้น
6. Pictograms ที่ใช้ในโอลิมปิกครั้งนี้ ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี จึงออกแบบเสร็จสมบูรณ์ และเปิดตัวในเดือนมีนาคมปี 2019
มาซาอากิ ฮิโระมุระ เอาท่าเคลื่อนไหวของกีฬาชนิดต่าง ๆ ออกมาเป็นแบบ animated pictogram ทำให้ pictograms ธรรมดากลับมาดูมีชีวิตชีวาอย่างมีศิลปะ แสดงถึงความปราดเปรียวของนักกีฬาแต่ละประเภทได้อย่างลงตัว
7. Pictograms ใน Tokyo Olympic 2020 เป็นแบบ “Kinetic Design” ที่ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหวได้
มาซาอากิ ฮิโระมุระ ออกแบบ Pictograms ใน Tokyo Olympic 2020 ให้เป็นแบบ “Kinetic Design” โดยถอดมุมท่าเคลื่อนไหวของกีฬาเป็นภาพนิ่ง ที่ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหวได้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก ที่มีการนำสัญลักษณ์เหล่านี้ มานำเสนอแบบเคลื่อนไหวได้
8. นักแสดงเงียบในโชว์ Pictograms มีทั้งหมด 5 คน
แต่นักแสดงหลัก คือ ศิลปินละครใบ้ “ฮิโระ-พอน (Hiro-Pon) และคู่หูดูโอ้ ชื่อว่า “มาสะ (Masa) และฮิโตชิ (Hitoshi) จากวง GABEZ
9. Pictograms ทั้งหมด 50 รูป จาก 33 ชนิดกีฬา ถูกนำมาใช้ในโชว์เปิดพิธี Tokyo Olympic 2020
ทั้ง 50 ชนิดกีฬาที่นำมาแสดง ล้วนเป็นกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันจริงใน Tokyo Olympic 2020 ทั้งสิ้น โดยเลือกวิธีจัดแสดงโชว์สุดสร้างสรรค์ สนุก และสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่อย่างมาก ด้วยการใช้ “คน” แสดงท่าทางให้เหมือนกับในสัญลักษณ์ แบบ long take ที่นักแสดงพลาดไม่ได้เลย!
10. โชว์ Pictograms ในพิธีเปิด Tokyo Olympic 2020 จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง “มรดก” ที่ญี่ปุ่นได้ให้ไว้กับมหกรรมกีฬานี้เมื่อปี 1964 และยังต้องการสื่อถึงนวัตกรรมจากความสามัคคีด้วย
ชื่อชุดการแสดง Pictograms นี้ คือ “The History of Pictogram” บอกเล่าประวัติศาสตร์ของ Pictogram ที่ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ที่กรุงโตเกียว ในขณะนั้นญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการฟื้นฟูและเร่งพัฒนาประเทศหลังสงครามโลก ชาวญี่ปุ่นยังสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก จึงได้มีการคิดนำ Pictogram ซึ่งเป็นภูมิปัญญาจากอดีตมาปรับใช้ออกแบบใหม่ให้ดูเรียบง่าย แต่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้ออกแบบใช้เฉพาะสัญลักษณ์การแข่งขัน แต่ใช้สื่อสารกับแขกชาวต่างชาติในทุกเรื่อง เพื่อช่วยเหลือและบริการทุกคน
ที่มาข้อมูล: Olympics.com, olympic-museum.de, mediamadegreat.com/
pictogram โตเกียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ภาพสุดประทับใจ! นาที น้องเทนนิส เดินทางกลับถึงไทย-กราบคุณพ่อ หลังคว้าเหรียญทองโอลิมปิกแรกในประวัติศาสตร์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: “TRUE-AIS” คว้าน้อง “เทนนิส-น้องแต้ว” นักกีฬาเหรียญทองและเหรียญทองแดงโอลิมปิก เป็นพรีเซนเตอร์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: เกินต้าน! “บาส-ปอป้อ” คว้าแชมป์แบดมินตันโลกครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำให้คว้าแชมป์ 5 รายการติดในปีเดียว