ชาวโซเชียลจับพิรุธตำรวจแถลงบาดแผลที่ขาแตงโมเทียบกับภาพของสาวอังกฤษ ทั้งที่เขาถูกของมีคม ไม่ใช่ใบพัดเรือ
หลังจากเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 วันที่คนไทยทั้งประเทศรอฟังสรุปสำนวนคดี “แตงโม” หรือ “นิดา พัชระวีระพงษ์” จากตำรวจกันอย่างใจจดใจจ่อ ว่าสุดท้ายแล้วสาเหตุการเสียชีวิตของนักแสดงสาวคืออะไร และผลสรุปที่ออกมาก็ไม่เหนือความคาดหมายนัก แต่ยิ่งทำให้คนไทยเกิดข้อข้องใจมากขึ้นไปอีกหลายจุด โดยเฉพาะเรื่อง “แผลที่ขาแตงโม”
ทาง “พล.ต.ท. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร” ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กล่าวยืนยันว่า บาดแผลทั้งหมดเกิดก่อนการเสียชีวิต โดยเฉพาะ “บาดแผลที่ขาแตงโม” ซึ่งพบบริเวณต้นขา ยาว 26 เซนติเมตร กว้าง 7 เซนติเมตร ลึก 1.5 เซนติเมตร เมื่อนำบาดแผลมาทำกราฟิกเปรียบเทียบ พบว่าเข้าได้กับลักษณะของใบพัดเรือที่ปั่นในแนวขวางกับขาของ “แตงโม”
โดยเจ้าหน้าที่ได้นำใบพัดเรือไปทดสอบด้วยการกดและปั่นกับดินน้ำมัน พบว่าลักษณะบาดแผลมีความเว้าโค้งแบบเดียวกัน ประกอบกับบาดเเผลของผู้ที่ประสบเหตุถูกใบพัดเรือในต่างประเทศ ก็มีลักษณะเดียวกับบาดแผลบริเวณต้นขาของนักแสดงสาว “แตงโม”
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวของอมรินทร์ ทีวี เกิดข้อสงสัยว่า ภาพบาดแผลที่ทางตำรวจนำมาอ้างอิงเทียบกับของ “แตงโม” เป็นของใครกัน จึงได้ทำการสืบค้นพบว่า เป็นภาพข่าวของนักศึกษาสาวชาวอังกฤษชื่อ “เมซี่ กรูว์” ที่ได้รับบาดแผลดังกล่าวมาจากงานสังสรรค์ “Eccleshall Young Farmers Dinner Dance” ที่โรงแรม Tillington Hall เมื่อปี 2562 ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักข่าวอังกฤษชื่อว่า “เดอะ ซัน (The Sun)”
จากรายงานข่าวระบุว่า นักศึกษาสาวอังกฤษรายนี้ได้รับบาดเจ็บ ขณะร่วมงานเลี้ยงที่โรงแรมวันที่ 20 กันยายน 2562 เวลาราว 23:30 น. เธอถูกของมีคมไม่ทราบชนิดกรีดที่ขาขวาลึก 30 เซนติเมตร ทะลุชุดเต้นรำของเธอ ส่งผลให้เสียเลือดมาก ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนอร์ธ สแตฟ โดยแพทย์ได้ทำการผ่าตัด และไม่พบเศษแก้ว หรือร่องรอยวัตถุใด ๆ
ด้าน “รศ. นพ. วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) มองว่า กรณีข่าวของเดอะซัน ตำรวจเมืองแสตมฟอร์ด ได้ออกมาระบุว่ายังไม่ทราบสาเหตุของการบาดเจ็บที่แน่ชัด สำหรับกรณีตำรวจนำภาพของสาวอังกฤษมาอ้างอิงกับคดี “แตงโม” เรื่องนี้คงต้องสอบถามไปยังตำรวจ น่าจะได้ความชัดเจนว่าเป็นภาพเดียวกันจริงหรือไม่ ตำรวจอาจจะมีข้อมูลสรุปว่าบาดแผลเกิดจากใบพัดเรือ หรือนำภาพบาดแผล มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าคล้ายคลึงกันเพียงอย่างเดียวก็เป็นไปได้
ส่วนจะมีผลทางคดีหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า หากรูปภาพดังกล่าวมีความผิดพลาดในการนำมาอ้างอิงจริง ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับรูปคดี เนื่องจากการพิสูจน์บาดแผล ได้ผ่านการการตรวจสอบ และการให้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านร่วมกันน่าจะเป็นข้อสรุปที่มีหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน แต่มีความผิดพลาดในการอ้างอิงภาพในการแถลงสรุปคดีเท่านั้น คาดว่าภาพดังกล่าวคงไม่ได้ถูกใช้อ้างอิงในสำนวน หากประกอบอยู่ในสำนวนก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือทางคดีได้
กรณีดังกล่าวหากเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริงถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญในการที่หน่วยงานที่นำเสนอ จะต้องตรวจสอบการอ้างอิงให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางคดีในอนาคต
ที่มาข้อมูล: Amarin TV และ ผู้จัดการออนไลน์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: สรุปสำนวนคดี “แตงโม นิดา” ตกเรือเสียชีวิต-ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 6 คน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: “สิตางศุ์ บัวทอง” เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้ “แตงโม” เคียงข้าง “ทนายอัจฉริยะ”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ตำรวจชุดทำ “คดีแตงโม” เอาผิด “อัจฉริยะ โคนันเมืองไทย” ถึงที่สุด! หลังอ้างสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ