ดราม่า “วอชเชอร์ดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi)” ยังร้อนแรง แล้วใครคือเจ้าของ? The Joi มีคำตอบ พร้อมความเห็นผู้เชี่ยวชาญแฟรนไชส์เผย “ธุรกิจเซ็ตไว้โกงตั้งแต่เริ่ม”
ร้านอาหารญี่ปุ่นบุฟเฟ่ต์ “ดารุมะ ซูชิ” ที่โด่งดังจากการให้บริการ “บุฟเฟต์แซลมอน” กลายเป็นประเด็นดราม่าที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งบนโลกโซเชียลมีเดียของไทย ณ เวลานี้ หลังร้านอาหารดังกล่าวที่มี 27 สาขาตั้งอยู่ในห้างดังต่าง ๆ ประกาศปิดให้บริการโดยไม่บอกไม่กล่าว อ้างว่าแก้ไขระบบเซิร์ฟเวอร์ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ (20 มิถุนายน 2565) ก็ยังไม่เปิด ซ้ำร้ายเพจเฟซบุ๊กของทางร้านก็ปิดไปแล้วด้วย
แน่นอนว่า ผู้ที่ออกมาโวยวายเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่น คือลูกค้าที่ซื้อวอชเชอร์หรือคูปองใช้บริการร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ในราคา 199 บาทจำนวนหลายใบ ซึ่งเผยกับสื่อมวลชนว่า ตอนซื้อก็ต้องกดไม่ต่ำกว่า 5 ใบต่อครั้งอีกต่างหาก จนถึงขณะนี้มีผู้เสียหายแล้วกว่า 6,000 ราย และผู้ซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการกะทันหัน โดยผู้เสียหายทั้งหมดได้รวมตัวกันแจ้งความดำเนินคดี และยื่นเรื่องต่อกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือปคบ. ในเวลา 15:00 น. ของวันนี้แล้ว
จากข้อมูลของสำนักข่าว “ไบรท์ ทีวี (Bright TV)” รายงานว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ปิดตัวลงไม่มีปี่มีขลุ่ย รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ขณะที่เจ้าของร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ลูกจ้างร้านอาหารอ้างว่า บินหนีออกนอกประเทศแล้ว ตั้งแต่ 16 มิถุนายน 2565 เขามีชื่อว่า “เมธา ชลิงสุข” หรือ “บอลนี่” เป็นทั้งผู้บริหารและเจ้าของร้านอาหาร ปัจจุบันอายุ 42 ปี มีบัญชีอินสตาแกรม @charingsuk ตั้งเป็น Private แล้ว ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กได้ถูกปิดไปแล้ว
และจากข้อมูลของ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ในกระทรวงพาณิชย์ พบว่า เจ้าของร้าน “ดารุมะ ซูชิ” รายนี้ มีรายชื่อปรากฎเป็นกรรมการบริษัทอีก 2 แห่ง คือ “บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด” จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ทุนปัจจุบัน 5,000,000 บาท โดยมี “เมธา ชลิงสุข” เป็นกรรมการบริษัท ตั้งอยู่ที่ 87 โครงการ เดอะ แจส รามอินทรา ชั้นที่ 2 ห้อง เอ 217 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
ผลประกอบการย้อนหลัง “บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด”
- ปี 2559 รายได้ 11,333,477.93 บาท ขาดทุน 4,038,747.16 บาท
- ปี 2560 รายได้ 26,480,833.34 บาท กำไร 674,204.29 บาท
- ปี 2561 รายได้ 27,379,700.15 บาท กำไร 698,721.28 บาท
- ปี 2562 รายได้ 39,004,873.87 บาท กำไร 1,004,376.11 บาท
- ปี 2563 รายได้ 43,762,122.18 บาท กำไร 1,778,984.00 บาท
- ปี 2564 รายได้ 45,621,832.60 บาท กำไร 1,256,609.03 บาท
และอีกแห่งหนึ่งคือ “บริษัท ดารุมะ ซูชิ โก จำกัด” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ปรากฎรายชื่อ “เมธา ชลิงสุข” เป็นกรรมการบริษัท แจ้งดำเนินธุรกิจประกอบกิจการร้านอาหาร เครื่องดื่ม และจำหน่าย รวมทั้งบริการจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มทุกวัน ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ไม่มีแจ้งผลประกอบการแต่อย่างใด
ส่วนสำนักข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ประเด็นดราม่าร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ลอยแพลูกค้าและพนักงาน กับ “สุภัค หมื่นนิกร” ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร ซึ่งเชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์มาอย่างยาวนาน ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ดารุมะ ซูชิ ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่แรก แต่เซ็ทธุรกิจขึ้นมาเพื่อเจตนาหลอกลวงตั้งแต่เริ่ม” โดยชี้แจงเป็นข้อ ดังนี้
ข้อ 1 คือ “Franchisor WIN-Franchisee WIN” โดย “ดารุมะ ซูชิ” ไม่ได้ทำตามพื้นฐานธุรกิจแฟรนไชส์สักเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษามาตรฐานการบริหาร และเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองทั้งหมด
ข้อที่ 2 “ดารุมะ ซูชิ” ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่แรก แต่ทำขึ้นมาเพื่อหวังผลหลอกลวงลูกค้า
และข้อที่ 3 ก็คือการทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี ไม่ควรทำโปรโมชั่นเยอะ บ่อย และแรงมากขนาดนี้ เพราะแคมเปญที่ “ดารุมะ ซูชิ” ปล่อยออกมาคือ “บุฟเฟ่ต์ 199 บาท” ซึ่งเป็นแคมเปญที่แรงเกินไป แม้ว่าจะสร้างกระแสได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติทำได้ยาก และเป็นการสร้างพฤติกรรมของลูกค้าที่ผิด เพราะแคมเปญไม่ได้ทำให้เกิด Real Customer ขึ้นมา และกลายเป็นลูกค้าที่ชอบโปรมากกว่าที่จะชอบแบรนด์และซื้อซ้ำ
นอกจากนี้ “สุภัค หมื่นนิกร” ยังวิเคราะห์ต่อว่า “โครงสร้างของวัตถุดิบต่อให้ปัจุบันราคาวัตถุดิบคือ แซลมอนไม่ได้ขึ้นราคาก็ไม่สามารถขายในราคา 199 บาทได้ ถ้าราคาแซลมอนรับมาอย่างถูกกิโลกรัมละ 120 บาท ลูกค้า 1 คน กิน 1 กิโลครึ่ง ทุนหมดไปแล้ว 180 บาท แต่เขาคิดราคา 199 บาท แค่ถอด VAT ก็ขาดทุนแล้ว ไหนจะค่าแรงพนักงาน ค่าเช่า เพราะฉะนั้น มันก็ขาดทุนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว งานนี้ไม่เกี่ยวกับราคาวัตถุดิบ งานนี้มันอยู่ที่เขาตั้งใจโกงตั้งแต่แรกเลยจริง ๆ เพราะในแง่ธุรกิจมันเป็นไปไม่ได้เลย”
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดราม่านี้ สามารถเอาผิดได้ตามกฎหมาย ส่วนของ “ลูกค้าที่ซื้อคูปอง” สามารถฟ้องร้องไปที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, “พนักงาน” สามารถฟ้องร้องได้ที่กรมแรงงาน และ “เจ้าของแฟรนไชส์” ร้องเรียนได้ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ที่มาข้อมูล: คมชัดลึก, ฐานเศรษฐกิจ, ผู้จัดการออนไลน์ และ Kapook
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นแฉ! ลูกค้าไม่น่ารัก แอบห่ออาหารกินเหลือทิ้งห้องน้ำ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ชาวเน็ตวิจารณ์เสียงแตก! ปมดราม่าสาวสั่งบุฟเฟ่ต์ร้านปิ้งย่างชื่อดัง แต่กินไม่หมด โดนปรับ 900 บาท