ชาวเน็ตไทยสังเกตเห็นโลโก้ “หญิงไทยเกล้ามวยผม” ของร้าน “ปังชา” เหมือนกับภาพหญิงไทยในปฏิทินรีเจนซี่ปี 2550 ไม่มีผิดเพี้ยน ตั้งคำถามเอาแบบมาจากไหน?
หลังจาก “ร้านอาหารลูกไก่ทอง” ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ “ปังชา” ได้ออกมาโพสต์ผ่าน Facebook “Lukkaithong-ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ระบุว่า “แบรนด์ “ปังชา” บิงซูชาไทยได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ขอ “สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ” ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และ “สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ” ไปใช้เป็นชื่อร้าน หรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย”
ต่อมาก็มีกระแสดราม่าร้อนแรงบนโลกโซเชียลไทย เมื่อร้านขนมปังปิ้งเจ้าหนึ่งที่เชียงรายชื่อว่า “ปังชา เชียงราย” ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อว่า ร้านของตัวเองที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2564 ถูกทนายของ “ร้านอาหารลูกไก่ทอง” ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท เพราะใช้คำว่า “ปังชา” เนื่องจากเป็นการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า และขอให้ทางร้านเลิกใช้คำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha” โดยทันที และต้องจ่ายค่าเสียหายภายใน 7 วัน
ล่าสุดในวันนี้ “บิ๊ก-พีรมณฑ์ ชมธวัช” นักออกแบบเครื่องแต่งกายภาพยนตร์ ผู้ทำชุดไทยให้โฆษณารีเจนซี่และละคร “พิษสวาท” ก็ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมข้อความลงเฟซบุ๊ก “Peeramon Chomdhavat” ถึงกรณีดราม่าโลโก้ร้าน “ปังชา” โดยระบุว่า “ก่อนจะไปไล่ฟ้องลิขสิทธิ์คนอื่น หันมาดูรูปโลโก้สินค้าร้านตัวเองก่อนมั้ย ภาพวาดลายเส้นหญิงชุดไทยนั่งพับเพียบ เกล้าผมมวยพันอก ทัดดอกไม้ ใส่สร้อยคอ ยื่นมือขวาเหยียดยาวนั้นน่ะ คิดเองเหรอ หรือเอาแบบจากที่ไหนมาวาด? ภาพนี้จากปฏิทินรีเจนซี่ 2550 ผลงานออกแบบชุดไทย และการจัดวางลีลาท่าทาง โดยผมเอง”
หลังจากนักออกแบบเครื่องแต่งกายชื่อดังได้แชร์ภาพและข้อความดังกล่าว โพสต์ของเขาก็กลายเป็นไวรัลที่มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย เช่น “งานมิเรอร์จริง ๆ”, “เท่าที่เคยทำงานสายนี้ที่เจอมากับตัวเอง ส่วนใหญ่ให้ดราฟต์ตามแบบที่ได้จาก Google เลย” และ “ถึงว่าสิ…พอเห็นภาพแล้ว ถึงว่าคุ้น ๆ” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ ชาวเน็ตทั่วประเทศไทยก็ได้รู้ตอนจบของดราม่าโลโก้ “ปังชา” กันแล้ว โดย “นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่า คำว่า “ปังชา” ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ทุกคนและทุกร้านสามารถนำไปใช้ในการโฆษณาได้ เพราะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดเครื่องหมายทางการค้าให้กับผู้ประกอบการที่อ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์ เป็นการคุ้มครอง เฉพาะโลโก้และคำที่อยู่ในรูป
โดยภาษาอังกฤษคำว่า “Pang cha” บรรทัดบน ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “g” ตรงกลาง และคำว่า “The best Thai tea” ด้านล่างตัว “g” และโลโก้รูปทรงไข่ที่วงกลมตัวอักษรตามที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้า และห้ามนำไปคัดลอก, ดัดแปลง และทำซ้ำ หรือนำไปใช้ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นร้านเดียวกัน
อีกทั้ง ยังระบุด้วยว่า คนที่ขายเมนูน้ำแข็งกับชา หรือคล้ายกับขายขนมในลักษณะเหมือนกับเจ้าของ ที่จดเครื่องหมายการค้า ก็ยังสามารถขายได้ แต่ต้องไม่ใช้ภาชนะที่เหมือนกับในรูปของ “ร้านลูกไก่ทอง” เพราะมีการจดสิทธิบัตรในการออกแบบเอาไว้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ชานม “หมีพ่นไฟ” แพ้คดีละเมิดลิขสิทธิ์แบรนด์ “เสือพ่นไฟ” ต้องชดใช้ให้ 10 ล้านบาท
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: โยชิกิดักไว้ทุกทาง! “Twitter Japan” เปลี่ยนชื่อบริษัทไม่ได้เพราะมี “X Japan” อยู่แล้ว เลยต้องทำแบบนี้…
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เปิดรายชื่อ 8 ศิลปินเพลงสากลที่ “อาจบันทึกเสียงใหม่” เพื่อจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงตัวเองทั้งหมด