กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสที่มาแรงสุด ๆ หลังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก พากันออกมาติดแฮชแท็กร้อนอย่าง #แบนshein จนหลายคนสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันล่ะเนี่ย?! วันนี้พวกเรา The Joi จึงจะมาสรุปดราม่าร้อน ๆ นี้ให้กับทุกคนได้อ่านกัน!
SHEIN เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซทางด้านแฟชั่นแบบ B2C จากประเทศจีน ก่อตั้งที่เมืองนานจิง ในปี 2008 ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่วัยรุ่นชาวอเมริกันนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2021 และแน่นอนว่าได้รับความนิยมมาก ๆ เช่นกันในหมู่ชาวไทย ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย สวยงาม และราคาที่ถูกสุด ๆ โดยหลัก ๆ แล้วบนแพลตฟอร์มของ SHEIN จะเน้นจำหน่ายสินค้าแฟชั่นของผู้หญิงเป็นหลัก แต่ก็มีเสื้อผ้าผู้ชาย เสื้อผ้าเด็ก เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า ไปจนถึงเคสโทรศัพท์มือถือวางจำหน่ายเช่นเดียวกัน
สาเหตุที่คนติดแฮชแท็ก #แบนshein
สาเหตุใหญ่ที่ ๆ ที่หลายคนเริ่มออกมาเรียกร้องให้มีการแบนการซื้อสินค้าจาก SHEIN นั้น แบ่งออกเป็น 4 กรณี ดังนี้
1. ประเด็นเกี่ยวกับการใช้แรงงานที่หนักเป็นอย่างมาก
มีหลายคนพุ่งเป้าถึงการใช้แรงงานของทาง SHEIN ตั้งแต่มีกระแสดราม่าแบนสินค้าที่กดขี่แรงงานอุยกูร์ในอุตสาหกรรมฝ้ายที่ซินเจียง โดยปัญหาการใช้แรงงานนี้ส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ นั้นถูกจนน่าทึ่ง แต่ก็แลกมากับคำถามด้านมนุษยธรรมและจริยธรรมเช่นกัน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทาง SHEIN ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมระบุว่าทางบริษัทจ่ายเงินให้กับแรงงานสูงกว่าราคาทั่วไปของตลาด แต่ก็ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม นั่นยังไม่รวมถึงความจริงที่ว่าทาง Fashion Index 2021 ได้จัดให้คะแนนความโปร่งใสของ Shein อยู่ที่ 0 คะแนน
1. ประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมี ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น มีนักเรียกร้องและนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคน ที่เริ่มออกมารณรงค์ Slow Down Fast Fashion โดยลดการซื้อและเน้นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ สามารถนำมาใส่ซ้ำได้บ่อย ๆ
ตัวอย่างเช่น นักแสดงสาวเอ็มม่า วัตสัน ที่ปรากฏตัวในงาน Earthshot Prize ในชุดแต่งงานเก่าของเพื่อน ซึ่งนำมาดัดแปลงใหม่, แองเจลินา โจลี ที่จูงมือลูก ๆ เข้าร่วมงานเปิดตัวรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ Eternals โดยบรรดาลูก ๆ ของเธอต่างหยิบนำเอาชุดเก่าของคุณแม่นักแสดงสาวมาสวมใส่ใหม่ แต่ยังคงดูสวยเก๋ไม่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ที่มักจะปรากฏตัวต่อหน้าสื่อมวลชนด้วยชุดเก่าของเธอที่นำมาใส่ซ้ำอยู่เสมอ
กลับมาที่ SHEIN ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังหนีความจริงที่ว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion อย่าง SHEIN เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สไปไม่พ้น
และถึงแม้ว่า SHEIN จะเคยแถลงว่าบริษัทมีการใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน และใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าอย่างสูงสุด แต่ก็เช่นเคยว่าทางบริษัทไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกในส่วนนี้ และไม่เคยถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง ทำให้น้ำหนักของคำแถลงการณ์นี้ดูเบาลงไปอีก
3. ประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน
ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนให้ความสนใจมากเป็นอันดับต้น ๆ บน Twitter เพราะดูเหมือนว่าจะมีหลายคนออกมาเรียกร้องว่าผลงานของตนถูก SHEIN นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และมีการก็อปปี้ผลงานของหลาย ๆ คนมาใช้ ในส่วนของประเด็นนี้อย่างให้ทุกคนลองไปส่องกันเพิ่มเติมใน #แบนshein เพราะเอาเข้าจริงกรณีนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่มีเจ้าของผลงานหลายคนที่เคยออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ก่อนหน้าที่จะมีกระแสดราม่านี้เสียอีก โดยทาง SHEIN เองก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
4. ประเด็นเกี่ยวกับการได้สินค้าไม่ตรงปก
นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ใช้หลายคนออกมาโพสต์ว่าตนได้สินค้าไม่ตรงปกสักเท่าไหร่ หลังสั่งซื้อสินค้าจาก SHEIN มา จนออกมาแสดงจุดยืนว่าจะไม่สนับสนุนอีกต่อไป
ความคิดเห็นของชาวเน็ต
ด้านความคิดเห็นของชาวเน็ตก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ขอแบน SHEIN และฝ่ายที่จะขอสนับสนุนต่อไป อย่างไรก็ตามยังมีหลายคนที่ออกมาพูดคุยถึงประเด็นของผู้บริโภคหลายคนที่เคยอุดหนุนแบรนด์ดังกล่าว แต่ถูกตำหนิ ว่าก่อนหน้านี้ผู้บริโภคเหล่านั้นอาจไม่เคยทราบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ และไม่ควรไปตำหนิเขาเช่นนั้น ในเมื่อซื้อมาแล้วก็คงต้องใส่ต่อไป จะให้ทิ้งไปก็ใช่เรื่อง… แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกรณีนี้? อย่าลืมมาแชร์กันนะ!
อ่านบทความใหม่ล่าสุดก่อนใคร กดติดตามเราไว้เลย: