วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถูกแต่งตั้งให้เป็น “วันสตรีสากล” วันที่เหล่าสตรีลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ
“วันสตรีสากล”หรือ “International Women’s Day” เกิดจากการที่แรงงานสตรีของโรงงานทอผ้า “ประท้วง” เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบและโดนกดขี่ ทั้งยังโดนทรุณราวกับพวกเธอไม่ใช่คน โดยเป็นการกระทำที่นายจ้างให้ค่าและความสำคัญของผลประโยชน์มากกว่าชีวิตของคน ซึ่งเหตุการณ์การประท้วงนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
การประท้วงเริ่มขึ้นที่รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ค.ศ.1857) โดยกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าได้พากันประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานของพวกเธอ และต้องการให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างให้มีความเหมาะสม แต่กลายเป็นว่าในวันนั้นมีผู้หญิงกว่า 119 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากการถูกรอบวางเพลิงเผาโรงงาน ในขณะที่พวกเธอนั้นกำลังร่วมชุมนุมกันอยู่
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ.1907 “คลาร่า เซทคิน” นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ทนไม่ไหว เนื่องจากนายจ้างยังคงเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ ทารุณ ใช้งานพวกเธอราวกับไม่ใช่คน ในหนึ่งวันพวกเธอต้องทำงานหนักถึง 16-17 ชั่วโมง ไม่มีแม้กระทั่งวันหยุด ไม่มีการรับผิดชอบจากนายจ้าง ซึ่งการทำงานหนักทำให้พวกเธอต้องเอาความเจ็บป่วยของร่างกายแลกมากับค่าแรงอันน้อยนิด และหากใครที่ตั้งครรภ์ก็จะถูกไล่ออกจากการทำงาน
และเหตุผลดังกล่าว ทำให้ “คลาร่า เซทคิน” ปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีให้ประท้วงด้วยการนัดกันหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2450 (ค.ศ.1907) และเรียกร้องนายจ้างให้ลดเวลาการทำงานเหลือเพียงแค่วันละ 8 ชั่วโมง พร้อมกับเพิ่มสวัสดิการ รวมไปถึงการเรียกร้องให้สตรีทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง
แม้ว่าการเรียกร้องในครั้งนี้จะยังไม่สำเร็จ แต่การกระทำของคลาร่า เซทคิน ก็ทำให้ชาวสตรีทั่วทุกมุมโลกกันมาสนใจสิทธิของตัวเองกันมากขึ้น และยังสนับสนุนแนวคิดของเธออีกด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา
ผ่านไปหนึ่งปี วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2451 (ค.ศ.1908) มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์กกว่า 15,000 คน พวกเธอต้องการเรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก ใช้คำขวัญในการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” ซึ่งมีนัยยะหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี
และในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2453 (ค.ศ.1910) นับเป็นวันประสบความสำเร็จของเหล่าแรงงานสตรีที่ได้ออกมาเรียกร้อง เพราะตัวแทนสตรีทั้งหมด 17 ประเทศ ได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 และได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องว่า “จะลดเวลาการทำงานให้เป็นวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาในการค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเอง 8 ชั่วโมง และช่วงเวลาในการพักผ่อนอีก 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้มีความเท่าเทียมกับแรงงานชาย รวมไปถึงการจัดให้มีสวัสดิการสำหรับคุ้มครองแรงงานสตรีและเด็กด้วย”
นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังรับรองและแต่งตั้งให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” ตามข้อเสนอของ “คลาร่า เซทคิน”
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ: Thaiwomen, Vogue, Aestheticamagazine, News.wttw, Firstclasse และ Goodhousekeeping
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: สระผมก็อ้วนได้! นักวิจัยนอร์เวย์พบ “ขวดแชมพู” ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: “เอมิรา ดีสเปน” ผู้หญิงข้ามเพศผิวสีคนแรกที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์ชุดชั้นในดัง “Victoria’s Secret”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: 5 คนดังไทยกับแนวคิด Body Positive ที่ชวนทุกคนภูมิใจใน #RealSizeBeauty ของตัวเอง