ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ “วาฬบรูด้า” สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย ซึ่งมีผู้ถ่ายภาพไว้ได้บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เขตกรุงเทพมหานคร ผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” โดยมีข้อความระบุว่า
“เวลามีข่าววาฬบรูด้าโผล่ขึ้นกลางทะเล ผู้คนล้วนดีใจ แต่ถ้ามีวาฬพุ่งพรวดขึ้นมาหาปลาใกล้หมู่ตึกระฟ้าล่ะ เพื่อนธรณ์จะรู้สึกยังไงบ้าง ?
เรื่องนี้ผมเขียนให้สัตว์สงวนแห่งกรุงเทพมหานคร #วาฬบรูด้าหน้ากรุงเทพ
? ?
หญิงสาวกำลังวิ่งวุ่นอยู่ในออฟฟิศ…
เธอถือแฟ้มงานไปที่โต๊ะนั้นโต๊ะนี้เพื่อขออนุมัติงานด่วน แม้วันนี้ฟ้าดีมีแดด แต่เธอไม่มีเวลาแม้มองออกนอกหน้าต่างชั้น 40
ห่างออกไปเพียง 15 กิโลเมตร สิงหา…วาฬบรูด้าตัวใหญ่ กำลังวุ่นวายอยู่เช่นกัน
วันนี้ปลาเยอะดีจัง สิงหาคิดระหว่างว่ายเลียบพื้น ก่อนทะยานตัวขึ้นเหนือน้ำ อ้าปากกว้างเพื่อหม่ำปลาตัวเล็กตัวน้อย
15 กิโลเมตร คือระยะห่างระหว่างตึกระฟ้ากับสัตว์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
15 กิโลเมตร คือระยะห่างระหว่างสาวออฟฟิศกับสัตว์สงวนชนิดใหม่ของบ้านเรา
เกือบ 50 กิโลเมตร คือระยะห่างระหว่างสนามบินดอนเมืองกับสนามบินสุวรรณภูมิ
หากโลกนี้มีคำว่า “มหัศจรรย์”
“วาฬบรูด้าแห่งกรุงเทพมหานคร” คือหนึ่งในนั้น…แน่นอน
? <-15-> ??
วาฬบรูด้าเมื่อโตเต็มที่ ความยาวเกิน 15 เมตร น้ำหนักถึง 25 ตัน (เท่ากับช้าง 5 ตัว)
วาฬบรูด้ากินปลาเล็กเป็นอาหารหลัก พัฒนาวิธีการหากินให้เหมาะสมกับสถานที่
เช่น การว่ายพุ่งขึ้นมาจากทะเล “แทงปลา” อ้าปากกว้างฮุบฝูงปลาเล็กเข้าไป
อ่าวไทยเป็นเขตน้ำตื้น อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารจากแม่น้ำหลายสาย
แพลงก์ตอนมีมากมาย ปลาเล็กอุดมสมบูรณ์ วาฬบรูด้าจึงเข้ามาหากิน
หากินจนกลายเป็นถิ่นฐาน มีวาฬบรูด้าประมาณ 50 ตัวที่เข้ามาในอ่าวไทยตอนในเป็นประจำ
บางตัวหากินวนเวียนอยู่ในเขตนี้เกือบตลอดอายุขัย (50 ปี)
หลายครั้งที่เธอผ่านมา หากินอยู่แถวปากเจ้าพระยา บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
? = ?????
กรุงเทพมหานครคือเมืองที่มีคนอาศัยเป็นลำดับที่ 32 ของโลก (ค.ศ.2018)
กรุงเทพมหานครคือเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในโลก (ค.ศ.2018)
ผมหาข้อมูลตามรายชื่อเมืองใหญ่กว่ากรุงเทพ
ผมไม่เจอข่าวหรือข้อมูลที่บอกว่า มีวาฬหากินเป็นประจำอยู่ใกล้โตเกียว มีวาฬโผล่ขึ้นมาข้างเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ
ผมหาข้อมูลตามรายชื่อเมืองที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรองจากกรุงเทพ 5 อันดับ
ผมไม่เจอข้อมูลว่ามีใครไปดูวาฬที่ลอนดอน ปารีส ดูไบ สิงคโปร์
ผมเจอแต่ข้อมูลว่า อะควอเรี่ยมไหนมีโลมาให้ดูบ้าง
วาฬบรูด้าแห่งกรุงเทพมหานครจึงเป็นปรากฏการณ์เหลือเชื่อ
เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับวาฬ ตึกระฟ้ากับสัตว์สงวน
และนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ทุกๆ ปี มีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินแถวนี้ มีผู้พบเจอ มีคนบันทึกภาพได้
รวมทั้งเจ้าสิงหา ปีนี้พบเจอที่ปากเจ้าพระยาแล้ว 2 หน ภาพนี้คือหนที่ 3
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ?
?????????
แม่น้ำเจ้าพระยา คือแม่น้ำที่พาขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของไทย (ข้อมูลกรมทะเล)
เมื่อวาฬบรูด้าอ้าปากกว้างฮุบปลา จะมีพลาสติกกี่ชิ้นที่ไหลลงท้องเธอ ?
หากเรานำเสนอเรื่องราวให้ทราบ เพียงไม่กี่กิโลเมตรจากถุงพลาสติกในมือคุณ มีวาฬบรูด้ากำลังอ้าปาก
คนกว่า 8 ล้านคนในกรุงเทพอาจเริ่มคิด
หากเรานำเสนอให้นักท่องเที่ยวทราบ ช่วยกันเถอะนะ ช่วยกับคนกรุงเทพมหานคร เก็บรักษาเอกลักษณ์เช่นนี้ให้คงอยู่คู่โลกต่อไป
นักท่องเที่ยว 22 ล้านคนอาจเข้าใจ
หากเราส่งเสริมการท่องเที่ยวชมวาฬที่ดี มีหลักเกณฑ์กฎกติกา ธุรกิจก้าวหน้า กระจายรายได้ หวนมาตอบแทนสังคม
เด็กๆ ในกรุงเทพจะไม่เพียงแค่รู้จักวาฬจากหนังสือหรือภาพถ่ายอีกต่อไป
ไม่เพียงแค่ท่องชื่อสัตว์สงวนตัวใหม่ แต่มีโอกาสเจอเธอที่อยู่ห่างจากบ้านเพียงไม่กี่กิโลเมตร
ความฝัน แรงบันดาลใจ การได้พบเห็น จะให้กำเนิดนักอนุรักษ์หนุ่มที่ออกไปสำรวจเพื่อดูแลวาฬและโลมา
จะกลายเป็นที่มาของสัตวแพทย์สาวที่ทุ่มเทดูแลสัตว์หายากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ยังเป็นจุดเริ่มต้นของคนอีกจำนวนมากที่งานไม่ใช่แต่ใจรัก พร้อมอาสาช่วยพิทักษ์รักษาวาฬและผองเพื่อนในโลกสีคราม
เราอาจติดตาข่ายดักขยะตามปากท่อบางแห่ง เหมือนที่ระยองทำสำเร็จมาแล้ว
เราอาจพาน้องๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด เป็นเจ้าหน้าที่ตักขยะพลาสติกตามประตูน้ำคูคลองของกรุงเทพ
พาน้องๆ ไปดูวาฬที่อยู่ใกล้บ้าน
เพื่อบอกน้องๆ ว่า งานของคุณพ่อคุณแม่ยิ่งใหญ่แค่ไหน !
มีอะไรอีกมากมายที่สามารถทำได้ ต่อยอดได้ จากปรากฏการณ์เช่นนี้
เพราะนี่คือความมหัศจรรย์…
เป็นความมหัศจรรย์ที่น้อยคนรับทราบ ไม่กี่คนรับรู้
เราแชร์คลิปแชร์ภาพนี่นั่นจากทั่วทุกมุมโลก แต่ลืมมองใกล้ตัวว่า มีความยิ่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เพราะฉะนั้น นี่คือจุดประสงค์ทั้งหมดของเรื่องนี้
เรื่องที่ตั้งใจเขียนถึง #ความมหัศจรรย์แห่งกรุงเทพมหานคร
????
พักเที่ยง หญิงสาวจะลงไปซื้อของที่ร้านชั้นล่างเหมือนเช่นเคย
เธอกำลังก้าวออกจากโต๊ะ แต่กลับหยุดชะงัก หันหลังมองผ่านกระจกบานใหญ่
ผืนน้ำเลือนราง เธอไม่เห็นอะไรหรอก แต่บางอย่างสะกิดใจ
บางอย่างที่ปรากฏอยู่ตรงนั้น
บางอย่าง มองไม่เห็นด้วยสายตา แต่ทราบได้ด้วยหัวใจ
เธอหันไปถามเพื่อนโต๊ะข้างๆ “มีถุงผ้ามั้ยจ๊ะ ยืมหน่อยนะ”
ห่างไป 15 กิโลเมตร สิงหากำลังอ้าปากกินปลาหน้ากรุงเทพมหานคร…
หมายเหตุ – ขอบคุณ Jirayu Ekkul สำหรับภาพจ้ะ”
นอกจากนี้คุณจิรายุ เอกกุล เจ้าของบริษัท Wild Encounter Thailand ยังโพสต์ภาพวาฬบรูดาโผล่หัวขึ้นเหนือน้ำ ที่มีฉากหลังเป็นตึกสูง บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โดยภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนในโลกออนไลน์จำนวนมาก
แต่อาจารย์ธรณ์แสดงความเป็นห่วงว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำที่ส่งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของไทย และหากวาฬบรูดาอ้าปากกินอาหารจะมีขยะพลาสติกจำนวนเท่าใดที่เข้าไปในท้องของเจ้าวาฬตัวดังกล่าว นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า น่าจะมีแค่กรุงเทพมหานครเท่านั้นที่เป็นเมืองใหญ่ และสามารถพบเห็นภาพของวาฬบรูดาหากินใกล้ขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม จึงอยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพวกเราทุกคนให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงแหล่งน้ำ เพื่อจะให้ภาพประทับใจคงอยู่กับกรุงเทพมหานครต่อไป