ผวาทั้งประเทศ! เมื่อชายไนจีเรีย “ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในไทย” หลบหนีออกจากที่พักในภูเก็ต จนถึงขณะนี้ยังไม่พบตัว ล่าสุดมีการเผยไทม์ไลน์ผู้ป่วยและวิธีป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อความไม่ประมาท
ข่าวด่วนและข่าวใหญ่เมืองไทยวันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) หนีไม่พ้นการแถลงข่าวของ “นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ. ภูเก็ต) หลังออกมาเผยว่า พบผู้ป่วย “โรคฝีดาษลิง” หรือ “ฝีดาษวานร” หรือบางคนอาจเรียกว่า “ไข้ทรพิษลิง” รายแรกในไทย เป็น “ชายชาวไนจีเรีย” อายุประมาณ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากไนจีเรีย ลักษณะอาการที่ปรากฏดังภาพด้านล่างนี้
ชายรายนี้ให้ข้อมูลอาการป่วยว่า เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน (ตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2565) มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง และตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว และแขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ “Monkeypox virus” หรือ “โรคฝีดาษลิง” “สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก” โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) และต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 กรกฎาคม 2565
การค้นพบนี้ว่า ตื่นตระหนกแล้ว ยังมีเรื่องให้ตื่นตระหนกกว่า เมื่อมีการแถลงข่าวว่า ชายไนจีเรีย ซึ่งเป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในไทย ได้หลบหนีออกจากที่พักของตัวเองในจังหวัดภูเก็ตหายไปตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบตัวของชายชาวไนจีเรียคนดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้สกัดกั้นการเดินทางออกนอกประเทศทุกช่องทางแล้ว
ด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย ระบุว่า กรณีตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกในไทย ขออย่าตื่นตระหนก เพราะการติดต่อยาก เหมือนกับการเป็นอีสุกอีใส หากจะติดต่อได้จะต้องเป็นลักษณะของเนื้อแนบเนื้อ พร้อมกันนี้ได้เปิดเผย “ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในไทย” ดังนี้
- วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เดินทางเข้าประเทศไทย
- มีประวัติการเข้าพักอาศัยที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน
- มีประวัติเสี่ยง คือ สัมผัสนักท่องเที่ยวในสถานบันเทิงที่ป่าตองในช่วง 2-3 สัปดาห์ ก่อนป่วย พร้อมทั้งให้ประวัติว่า มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยกับหญิง ไม่สามารถระบุสัญชาติได้
- วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 เวลา 15:30 น. ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่า มีเคสสงสัย เนื่องจากชาวไนจีเรียคนดังกล่าวไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองภูเก็ต หลังจากมีไข้ ไอ จาม และมีตุ่มหนองที่ผิวหนัง
- วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เวลา 18:00 น. ทราบผลแลปจากจุฬาฯ แล้วทีมสอบสวนจึงติดตามผู้ป่วย
- วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ช่วงบ่าย ทราบผลแลปยืนยันจากกรมวิทย์ฯ ว่า เป็นผู้ป่วยฝีดาษลิง
- วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ช่วงบ่าย คณะกรรมการวิชาการโรคติดต่อแห่งชาติยืนยัน
ด้าน “อนุทิน ชาญวีรกูล” เผยกับสื่อมวลชนว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะนี้กำลังให้ทางตำรวจตามล่า เพราะมีการหลบหนีจากสถานรักษาพยายาล ถือเป็นพฤติกรรมที่แย่มาก ยืนยันว่ามีบทลงโทษและจะใช้กฎหมายทุกอย่างที่มี รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ และอาจมีการเนรเทศและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไทย
ล่าสุดวันนี้ (23 กรกฎาคม 2565) ชายไนจีเรียรายนี้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ไปยังกัมพูชามุ่งหน้าสู่สีหนุวิลล์
สำหรับการป้องกัน “โรคฝีดาษลิง” สามารถทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์
- กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
- ล้างมือบ่อย ๆ
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
- เฝ้าระวังอาการ 21 วันหลังกลับจากประเทศเขตติดโรค
ที่มาข้อมูล: ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการออนไลน์ และ โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผย 12 ไวรัสที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: หนุ่มอิสราเอลหลบหนีการกักตัวที่โรงแรมในกทม. พบอีกที่อยู่สมุย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เปลี่ยนบรรยากาศกักตัวกับ 13 สถานที่กักตัวโควิดแปลกทั่วโลก