ยังคงเดินหน้าลุยแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง สำหรับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 นายพิธา พร้อมด้วยนายองค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มหาสารคาม เขต 1 ก็ได้เดินทางไปลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดชัยภูมิ
ก่อนที่เมื่อวานนี้ (28 กันยายน 2564) ก็ได้มีการประชุมร่วมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิทั้ง 6 เขต ได้แก่ น.ส.นัฏฐิกา โล่ห์วีระ, นายปภาวินท์ ยวงทอง, นายเกรียงไกร จันกกผึ้ง, น.ส.พิมพ์กาญจน์ ภานุรักษ์, นางอรนุช ผลภิญโญ และนายกิตติธัช คำวงษ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการน้ำ-รับมือภัยพิบัติแบบยั่งยืน
โดยนายพิธา กล่าวว่า ตนตัดสินใจหักเลี้ยวเข้ามาจังหวัดชัยภูมิ จากการเดินทางในภาคอีสานหลายจังหวัด เนื่องจากห่วงประชาชนที่กำลังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วม และรู้สึกว่าไม่สามารถรอรัฐบาลได้ ผู้สมัครส.ส. แต่ละเขตต้องติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนเท่าที่ทำได้ พร้อมเน้นย้ำว่าสิ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลต่างจากพรรคอื่นคือการแจกของอย่างวิถีก้าวไกล ไม่ใช่แจกแค่ถุงยังชีพแบบทั่วไป
“รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณจัดการน้ำไปแล้วประมาณ 500,000 ล้าน หรือ ปีละ 80,000 ล้าน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ ดังนั้นอยากให้ทีมงานทุกท่านที่อาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชนในนามพรรคก้าวไกลตระหนักว่า เรื่องงบประมาณในการจัดการน้ำไม่สำคัญเท่าวิสัยทัศน์ ความเข้าใจในปัญหา การบริหารจัดการและการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างบูรณาการ งบประมาณ จังหวัดชัยภูมิ 3,048 ล้านบาทในปีนี้ แต่เราเห็นอะไรบ้าง ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ไม่มีการเตรียมตัวอย่างเป็นระบบ ทั้ง ๆ ที่เราต่างรู้อยู่ว่าฝนและพายุเกิดขึ้นในช่วงนี้ของปีทุก ๆ ปี”
นอกจากนี้ยังได้กล่าวต่ออีกว่า “น้ำท่วมต้องคิดเป็นระบบ ไม่ใช่แจกถุงยังชีพอย่างเดียว สิ่งที่เราควรตรวจสอบในเวลาที่ยังไม่เผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมในฤดูแล้ง คือ มีการก่อสร้างใดบ้างที่ผิดจากที่ผังเมืองกำหนดไว้ มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนรุกล้ำขวางทางหรือไม่ มีนายทุน มีผู้มีอิทธิพลถมดินขวางทางน้ำในพื้นที่รับน้ำหรือไม่ ระบบพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนที่แม่นยำทันสมัย เทคโนโลยีเหล่านี้รัฐบาลมีทุกอย่างอยู่ในมือ จะทำอย่างไรให้เกิดการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบและเตรียมตัวรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ก่อนท่วมเตรียมตัวอย่างไร ระหว่างท่วมจะดูแลกันอย่างไร และหลังท่วมจะฟื้นฟูเยียวยากันอย่างไร
แต่ตอนนี้ที่เราทำได้ คือ ระหว่างท่วมเราควรจัดหาทั้งมีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด ไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่ไม่โดนน้ำท่วม แต่ต้องปลอดภัยในเรื่องสุขภาพและอนามัยด้วย และจากนี้หลังท่วม ไม่เพียงแจกถุงยังชีพแล้วหายไปเลย ต้องช่วยชาวบ้านให้เข้าถึงการเยียวยา ฟื้นฟูจากภาครัฐอย่างเป็นธรรมด้วย เราไม่ต้องการบริหารแบบหน้าแล้งขนน้ำไปหาคน หน้าฝนขนคนหนีน้ำ ในภาคอีสานต้องไม่เป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
ก่อนที่ผู้สมัคร ส.ส. จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการน้ำด้วยกัน โดยมีนายพิธา ที่คอยเน้นย้ำคณะทำงานของพรรคก้าวไกล และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ ให้เตรียมตัวล่วงหน้า ทำงานแบบบูรณาการทั้งพรรค ทั้งจังหวัดในภาคอีสาน เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าเส้นทางน้ำจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ไหนต่อ ทีมงานผู้สมัครในจังหวัดแต่ละเขตต้องติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งข้อมูล แบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกัน เพื่อจะดูแลพี่น้องประชาชนได้ทั่วถึงที่สุด
ที่มาข่าว ข่าวสด