ใครทำไม่ดี ต้องถูกซักฟอก! “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ลั่นยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบนี้ไม่เหมือนรอบก่อน ๆ เพราะเตรียมฟาดรัฐบาล เน้นประเด็น “บริหารล้มเหลวในการจัดการปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน รวมทั้งการทุจริตของคนในรัฐบาล” ด้าน “พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย” พร้อมแจงทุกประเด็น
เมื่อวานนี้ (16 สิงหาคม 2564) “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เรียงหน้ายื่นญัตติซักฟอก “6 รัฐมนตรี” พร้อมเรื่องซักฟอกแน่น ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นำโดย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วยอีก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ, พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ในนามมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ยื่นญัตติดังกล่าวแก่ “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภาไทยและประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย
พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ทั้ง 6 รัฐมนตรี มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ …
1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม
เป็นบุคคลไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรมและไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายร้ายแรง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะในยามการระบาดของโควิด ทั้งยังรวบอำนาจตามกฎหมายต่าง ๆ ถึง 40 ฉบับ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมาไว้กับตนเอง แต่กลับปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มติครม. และข้อสั่งการของตนเอง ปล่อยปละละเลยการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคในหลายเรื่อง จนโรคกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจนยากจะควบคุม จึงไม่อยู่ในภาวะเป็นผู้นำประเทศอีกต่อไป
2. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข
“อนุทิน” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “เสี่ยหนู” ถูกซักฟอกในประเด็น “บริหารสาธารณสุขล้มเหลว” โดยขาดซึ่งองค์ความรู้ ไร้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถในการกำกับดูแลงานด้านสาธารณสุข มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวด ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฉ้อฉล หลอกลวงประชาชน ส่งผลให้การบริหารงานล้มเหลว หากปล่อยให้ อนุทินดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ต่อไปจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิดทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
3. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม
มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มุ่งแต่แสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแล รู้เห็นและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในการประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต หากปล่อยให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป จะยิ่งสร้างความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดิน
4. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรเเละสหกรณ์
เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญาและไร้ความสามารถในการบริหารงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้การบริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าไปมีส่วนได้เสียเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล สร้างความเสียหายแก่รัฐจำนวนมาก หากปล่อยให้ เฉลิมชัยบริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะเกิดความเสียหายแก่รัฐและเกษตรกรไม่หยุดยั้ง
5. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีเเรงงาน
เป็นบุคคลไร้ภูมิปัญญาและไร้ความรู้ความสามารถที่จะบริหารราชการของกระทรวงแรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ ทั้งระบบ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่อว่าจงใจและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ปล่อยปละละเลยให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายปะปนอยู่ในระบบแรงงาน และเกิดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานผิดกฎหมายดังกล่าว จนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิดกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ หากให้ดำรงตำแหน่งต่อไปยิ่งจะสร้างความเสียหายอีกเป็นทวีคูณ
6. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม
มีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้ตำแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม ทำลายบรรทัดฐานอันดีของสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หากปล่อยให้ ชัยวุฒิดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป ยิ่งจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกมากขึ้น
ด้าน “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หลังจากฝ่ายค้านยื่นญัตติมาแล้ว สภาฯ จะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ 7 วัน ถ้าไม่มีความผิดพลาดจะบรรจุเป็นญัตติด่วน เรียกฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาหารือกัน เพื่อกำหนดวันเวลาที่เหมาะสมร่วมกัน คาดว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน 2564 นี้
ศึกซักฟอกนี้จะยืดเยื้อหรือไม่? แล้วสมาชิกสภาฯ จะสามารถซักถามอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนได้หรือเปล่า? ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ที่มาข้อมูล แนวหน้าและคมชัดลึก