ไม่มีฉัน ไม่มีเธอฉันใด…
ไม่มีซาราห์ กิลเบิร์ต ก็ไม่มีวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ฉันนั้น
ใช่แล้ว! คุณได้ยินไม่ผิด เพราะ “ซาราห์ กิลเบิร์ต” ผู้นี้ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 “อ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซนเนกา (Oxford-AstraZeneca)” หรือที่เราเรียกแค่ชื่อของมันว่า “แอสตราเซเนกา” โดยเป็นผู้นำทีมนักวิจัย จากคณะนักวิจัยของสถาบันเจนเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนต้านทานโรคหลายชนิด ล่าสุดคือวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัทแอสตราเซเนก้า
ความสำเร็จด้านวัคซีนที่ช่วยชีวิตคนได้นับล้าน ๆ ทั่วโลก ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เกียรติยศสำหรับคณะอัศวิน จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และสามารถใช้คำว่า “เดม (Dame)” หรือภาษาไทยคือ “ท่านผู้หญิง” นำหน้าชื่อได้ ขณะที่เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลดหลั่นกันไปตามลำดับ
แต่กว่าจะเป็น “ท่านผู้หญิงซาราห์ กิลเบิร์ต” ในวันนี้ ก่อนหน้านั้นเธอเป็นใครมาจากไหน The Joi จะพาคุณไปรู้จักเธอคนนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับเรื่องราวกว่าจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ฉีดกันทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย
ชีวิตในวัยเยาว์
ซาราห์ เกิดในปี 2505 ที่เมืองเคทเทอริ่ง (Kettering)เมืองที่เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางกับครอบครัว และมีชื่อเสียงในเรื่องร้านอาหาร ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ และเติบโตมาเป็นเด็กดีและเรียนเก่ง หลังจบมัธยมก็เลือกเรียนทางชีวะและไวรัสวิทยา และมุ่งมาทางนี้จนจบปริญญาเอกในสาขาวิชาดังกล่าวมาได้
ชีวิตการทำงาน
เมื่อจบปริญญาเอก ได้เริ่มทำงานที่โรงหมักยีสต์กลางของสมาคมอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอังกฤษ แล้วย้ายอยู่บริษัทเดลต้า ไบโอเทคโนโลยี (Delta Biotechnology) บริษัทยาในเมืองนอตทิงแฮม (Nottingham) ของอังกฤษ
ครอบครัวและงาน คือ ดวงใจของเธอ
ระหว่างที่ทำงานไปด้วยก็รับสอนหนังสือ เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ขณะเดียวกันเธอก็เป็นคุณแม่ของแฝด 3 แต่เธอผ่านพ้นความลำบากในฐานะแม่ของลูกที่เกิดมาพร้อมกันในคราวเดียวจำนวนมาก และยังทำงานที่รักคือการวิจัยยา ได้เพราะสามีออกจากงานมาช่วยเลี้ยงดูลูกทั้งสาม
ก้าวแรกแห่งความสำเร็จในฐานะนักวิจัย
ต่อมาในปี 2557 ซาราห์เริ่มมีชื่อเสียงในฐานะผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสอีโบลา (Ebola) และวัคซีนต้านไวรัสทางเดินหายใจ MERS ในปี 2562
ก่อนที่ในปี 2563 ซาราห์จะต้องกับงานที่ท้าทายที่ไม่เพียงแต่ต่อสู้กับการศึกษาวิจัยไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ได้เร็วเท่านั้น แต่ทุกนาทีต้องคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุดอีกด้วย เพราะชีวิตของผู้คนจำนวนมากจะ “อยู่” หรือ “ตาย” ขึ้นอยู่กับวัคซีนนี้ ซึ่งลูกแฝด 3 ของเธอก็ได้มีส่วนร่วมรับวัคซีนทดสอบด้วย
ซาราห์ กับ การวิจัยคิดค้นวัคซีนโควิด-19 “แอสตราเซเนกา”
ซาราห์ เริ่มต้นการศึกษาไวรัสที่ดันไปสะดุดตาเข้าช่วงปี 2562 ณ เวลานั้น เธอให้นามสมมุติกับไวรัสนั้นว่า “X” ที่แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ ในเมืองอู่ฮั่นของจีน ด้วยความกังวลถึงโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเริ่มวางแผนกับทีมวิจัยและรอคอยการระบาดของโรคนี้ นั่นก็เพราะว่าเจ้าไวรัสนี้ ได้ถูกแพร่จากสัตว์มาสู่คน แล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ซาร์ส (Sars) ในปี 2545 และ เมอร์ส (Mers) ในปี 2012
เมื่อศึกษาจนพบจุดอ่อนของไวรัสดังกล่าวแล้วทำให้ ซาราห์และทีมของเธอ ได้เริ่มโปรเจกต์วัคซีนขึ้นมาทันทีที่นักวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยข้อมูลออกมา
ซาราห์เผยกับ bbc ว่า “ฉันคิดว่ามันคงเป็นแค่โปรเจกต์ธรรมดา ที่เราผลิตวัคซีนได้ แล้วไวรัสก็คงค่อย ๆ หายไป”
“แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น”
การทำงานของ “วัคซีนแอสตราเซเนกา” แบบคร่าว ๆ คือ การนำไวรัสชนิดอื่นมาเป็นพาหะเพื่อนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย โดยใช้เชื้อไวรัสอะดีโน ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ พร้อมกับเพิ่มโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส COVID-19 เข้าไป
เนื่องจากการผลิตวัคซีนมีต้นทุนที่สูงมาก ทำให้ซาราห์แทบจะต้องใช้เวลาทั้งหมดหลังจากออกแบบวัคซีนได้แล้ว ไปกับการหาเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ เป็นหลัก และแม้ว่าทางทีมของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะมีโรงงานผลิตวัคซีนเป็นของตัวเองก็ตาม แต่สำหรับการเดินสายงานผลิตมากกว่า 1,000 โดส เพื่อใช้ในการทดลอง และการผลิตแบบจำนวนมากเพื่อใช้จริง พวกเขายังจำเป็นต้องการโรงงานที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งเม็ดเงินและการสนับสนุนก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา หลังจากสถานการณ์เริ่มวิกฤติลงในหลายประเทศ เมื่อช่วงเดือนเมษายนปี 2563
และสามารถพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายวัคซีนดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ได้รับอนุมัติให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบใน บราซิล และ ออสเตรเลีย โดยมีอีก 170 ประเทศทั่วโลก ที่ให้ใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉินอยู่ในขณะนี้ โดยมีสายการผลิตอยู่ตามโรงงานต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในนั้นคือ ไทย เพื่อเร่งให้ทันกับยอดการส่งมอบวัคซีน 3,000 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้
จากผลงานการวิจัยที่ซาราห์และทีมผลิตขึ้นก็ควรค่าได้รับการชื่นชมยกย่อง และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา แฟนกีฬาชาวอังกฤษ ก็ได้เป็นตัวแทนปรบมือเสียงดังกึกก้องไปทั้งสนามการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน (Wimbledon) ที่มอบให้กับเธอ ทีมวิจัย และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนัก
แม้ว่าปัจจุบันซาราห์จะเปลี่ยนจาก “ศาสตราจารย์” มาเป็น “ท่านผู้หญิง” แต่เธอก็ยังทุ่มเทตัวเองให้กับวัคซีนประเภทที่เรียกว่า Viral Vector Vaccine หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะเหมือนเดิม เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโควิดที่ดีที่สุดเพื่อมวลมนุษยชาตินับล้าน ๆ คน ที่กำลังรอความหวังจากวัคซีนโควิด-19 ว่าจะรักษาพวกเขาให้หายขาดได้
ที่มาข้อมูล: เดลินิวส์, BBC, Sky News
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: โรงโสเภณีในออสเตรียจูงใจคนวอล์กอินฉีดวัคซีน ด้วยการจัดสาวสวยมาให้บริการฟรี ๆ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: พ่อค้าชาวมาเลเซียไอเดียบรรเจิดขาย “กงเต๊กวัคซีนโควิด” ให้ลูกหลานได้เผาส่งบรรพบุรุษในปรโลก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น! ผู้หญิงฉีดวัคซีนแขนช้ำทั้งแขน แต่หมอบอกไม่ตายหรอก!