กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ความตาย ซึ่งกลายเป็นข่าวโด่งดังทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมากมาย เพราะนี่ “ไม่ใช่ครั้งแรก” ที่มีผู้เสียชีวิตโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง
The Joi เลยจะพาทุกคนย้อนอดีต เปิดแฟ้มคดีอันอื้อฉาวสะเทือนวงการตำรวจ บ้างถูกอุ้มหาย สังหาร หรือซ้อมทรมาน เพื่อรีดอะไรบางอย่างจากเหยื่อ ซึ่งเป็นคดีโด่งดังไม่แพ้คดีของ “อดีตผู้กำกับโจ้” แห่งสถานีภูธรเมืองนครสวรรค์ ที่ชาวไทยทั้งประเทศต่างจดจำไม่มีวันลืม
1. เค้นข้อมูล “มูฮัมหมัด อัลรูไวลี”
คดีฆาตกรรม “มูฮัมหมัด อัลรูไวลี” นักธุรกิจและหนึ่งในเชื้อพระวงศ์ของซาอุดิอาระเบีย เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 เมื่อเขาหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จากลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ตามหลังเหตุการณ์สังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ 4 คน ช่วงปี 2532-2533 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้
เหตุการณ์นี้ทำให้ทางการซาอุฯ ไม่พอใจประเทศไทยอย่างมาก และลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงความร่วมมือระดับสูง แต่เมื่อไทยต้องการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯ ในปี 2535 ได้มีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยพบข้อมูลว่า “พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม” อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้เป็นผู้นำตัว “อัลรูไวลี” ไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดทำให้เขาเสียชีวิต แต่ในตอนนั้นอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
จนกระทั่งในปี 2552 ก็รื้อคดีนี้ขึ้นมาใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง และออกหมายเรียกตำรวจ 5 คน ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง และในปี 2553 ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)” ได้สั่งฟ้อง “พล.ต.ท. สมคิด และพวกอีก 4 คน” ในคดีร่วมกันฆ่าอัลรูไวลี ซึ่งแม้ว่าคดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่กลับมีการแต่งตั้ง “พล.ต.ท. สมคิด” ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
และในปี 2557 ศาลอาญาได้ “ยกฟ้อง” ตำรวจทั้ง 5 คน ต่อมาในปี 2559 ศาลอุทธรณ์ก็ได้ “ยกฟ้อง” อีก และสุดท้ายปี 2562 ศาลฎีกาเองก็ “ยกฟ้อง” เช่นกัน โดยเหตุผลว่าพยานโจทก์ยังมีข้อพิรุธ “ไม่น่าเชื่อถือ”
2. จับ “แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์” เป็นตัวประกัน เพื่อข้อมูลเพชรซาอุ
“คดีอุ้มฆ่าแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์” มี “พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ” ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจและคณะเป็นผู้ลงมือก่อเหตุอุ้ม “นางดารวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขันธ์” เป็นตัวประกัน เพื่อกดดันให้ “นายสันติ ศรีธนะขันธ์” เปิดเผยข้อมูลในคดีเพชรซาอุฯ ในปี 2537 ก่อนฆ่าปิดปากแม่ลุกทั้งสองคน เพื่ออำพรางคดีให้เป็นอุบัติเหตุรถชน และหลังจากที่ “สันติ” เข้าแจ้งความ และมีการสอบสวน ได้มีการจับกุม “พล.ต.ท. ชลอ” พร้อมลูกน้อง 9 คน มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์วิธีการทำงานของตำรวจบางกลุ่มว่า “เกินกว่าเหตุ และผิดต่อหลักการ” ไม่ว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏ ทั้งการลักพักตัว ข่มขู่รีดไถทรัพย์ หรือเพื่อเจตนาอื่นไปจนถึงการฆาตกรรม คดีตัวอย่างเหล่านี้มักถูกหยิบยกไปพูดถึงบ่อยครั้ง ในฐานะที่เป็นคดีสะเทือนขวัญ เป็นเหตุฆาตกรรมที่มี “ตำรวจเป็นผู้ลงมือ”
โดย “พล.ต.ท. ชลอ” หัวหน้าผู้สั่งการถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษ 3 ครั้ง ลดหย่อนโทษเหลือจำคุกนาน 19 ปี และได้เข้าเงื่อนพักโทษปี 2556 เนื่องจากเป็นนักโทษชรา และจำคุกมาแล้วเกิน 2 ใน 3
3. “ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร” ถูกซ้อมให้สารภาพ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2552 ขณะที่ “ฤทธิรงค์” ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมฯ ปีที่ 6 โดยเป็นเหยื่อที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดปราจีนบุรีจับกุม และซ้อมให้รับสารภาพว่าเป็นคนกระชากสร้อยทอง เพียงเมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายคนร้าย ก่อนที่เขาจะพ้นข้อกล่าวหา หลังมีการจับคนร้ายตัวจริงได้
“ฤทธิรงค์” ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ทั้งใช้เข่ากดหลัง สลับกับใช้ถุงดำครอบศีรษะ เตะที่ชายโครง และใช้คำพูดข่มขู่ ซึ่งการทรมานเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออาการป่วย หวาดระแวง ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลายปี
“ครอบครัวชื่นจิตร” ได้พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมนานหลายปี แต่ก็ถูกข่มขู่ รวมถึงพยายามเจรจาให้จบเรื่อง จนกระทั่งในปี 2559 ศาลสั่งว่าเรื่องที่ยื่นฟ้องมีมูล ซึ่งในการพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตำรวจยศพันโท แต่ได้ยกฟ้องดาบตำรวจ 1 คน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 เพราะศาลตัดสินว่าขาดอายุความ เนื่องจากการทำร้ายร่างกายเพียงเล็ก ทำให้ภายหลัง “ฤทธิรงค์” ถูกดาบตำรวจรายนี้ ฟ้องกลับว่าเบิกความเท็จ
4. “พลทหารวิเชียร เผือกสม” ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต
“พลทหารวิเชียร” เสียชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 เพียง 2 เดือนหลัง ในหน่วยฝึกทหารใหม่หลังเข้ารับการฝึกในกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วยของแข็ง กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรงจนทำให้ไตวายเฉียบพลัน โดย “ทหารยศร้อยโทกับพวกรวม 10 คน” ซึ่งทางครอบครัวได้มีการฟ้องร้องในทั้งแพ่งและอาญา โดยฟ้องแพ่งกับกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักนายกฯ ศาลพิพากษาให้ตามสัญญาประนีประนอม จ่ายเงินกว่า 7 ล้านกว่าบาทแก่โจทก์ และคดีอาญา ปัจจุบันอยู่ที่อัยการศาลทหาร
5. “บิลลี่ พอละจี” ถูกสังหาร เพราะเป็นพยานปากสำคัญในคดี
“บิลลี่ พอละจี” เป็นนักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในที่ดินทำกิน พยานปากสำคัญในคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เข้ารื้อทำลายและเผาหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ถูกหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยพยานบอกว่าพบเห็นครั้งสุดท้ายอยู่กับ “นายชัยวัฒน์ ลิ้มเขตอักษร” อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ภายหลังในปี 2559 “ดีเอสไอ” เพิ่งเปิดเผยว่า พบกระดูกของเขาในถังน้ำมันจมน้ำอยู่ใต้สะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเขาถูกฆ่าและเผาอำพราง
ในปี 2562 อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีกับ “นายชัยวัฒน์และพวก” ในข้อหาต่าง ๆ เช่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่น, ร่วมกันโดยทุจริต หรือเพื่ออำพรางคดีกระทำการใดใดแก่ศพ หรือสภาพแวดล้อม และอีกหลายคดี ขณะที่ปลายปี 2563 ทาง “ดีเอสไอ” ได้โต้แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการไป ซึ่งอยู่ระหว่างอัยการพิจารณาคำโต้แย้งจากดีเอสไอโดยไม่มีกรอบเวลา
และเมื่อเดือนมีนาคมปี 2564 “คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.)” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ลงโทษ “นายชัยวัฒน์” โดยการปลดออกจากราชการ
6. “ดารา พาไสย์” ถูกข่มขู่รีดข้อมูล
“ดารา พาไสย์” อายุ 60 ปี ถูกออกหมายจับว่าพัวพันกับการค้ายาเสพติด โดยเขาอ้างว่าถูก “ตำรวจสถานีตำรวจภูธรน้ำโสม 4 นาย” อุ้มไปรีดไถเงิน 560,000 บาท พร้อมขู่ฆ่าเผานั่งยางและมีตำรวจพัวพันคดีสุสานเผานั่งยาง นอกจากนี้ เขายังถูกข่มขู่ให้ยุติการร้องเรียนด้วย ซึ่งตำรวจที่ข่มขู่เชื่อมโยงไปถึงอีกหนึ่งคดีความในพื้นที่ ในท้ายที่สุดคำตัดสินของศาลพบว่า “ดารา พาไสย์” ไม่มีความผิดในข้อหาค้ายาเสพติด
7. เผานั่งยาง “บังอร ทองอ่อน”
คดีเผานั่งยาง “บังอร ทองอ่อน” ชาวตำบลดงบัง อำเภอบ้านผือ เมื่อปี 2557 ในพื้นที่ “สุสานบ้านผือ” ที่ปรากฏหลักฐานในสภาพสมบูรณ์ที่สุด เป็นรถกระบะที่คาดว่า เป็นพาหนะสุดท้ายของ “บังอร” ผู้ตาย เป็นรถของ “ด.ต. ที่เข้าข่มขู่เอาชีวิต” เพราะจากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุทั้งหมดพบว่า มีร่องรอยของคดีฆาตกรรมมากกว่า 20 จุด ทำให้ป่าบ้านคำบอนเวียงชัย ใน ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จนเป็นที่มาของชื่อ “สุสานบ้านผือ”
การซ้อมทรมานเพื่อรีดข้อมูล หรือการจัดฉากการตายเพื่อปกปิดคดี แม้วิธีการเหล่านี้ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่นี่คือสิ่งที่อดีตตำรวจชี้ว่า “เกิดจากถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น” ซึ่งสังคมปัจจุบันไม่อาจรับได้ และต้องการให้เลิกกระทำอย่างถาวร
ที่มาข้อมูล ไทยพีบีเอส, ประชาไท และ The Matter