ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ เวลาจะเดินทางเข้าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ต้องใช้บริการรถไฟฟ้า BTS อยู่เสมอ แม้ว่ามันจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายที่สุดในการเดินทาง แต่ก็ไม่วายมีเรื่องที่ผู้ใช้บริการทุกคนต้องเคยเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 7 เรื่องด้วยกัน
1. BTS ขัดข้องบ่อย เป็นเรื่องปกติ
นอกจากผู้ใช้รถไฟฟ้า BTS จะต้องทนขบวนรถไฟที่มาไม่ตรงเวลาเป็นปกติแล้ว แต่ยังต้องชินชากับการเจอรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องเป็นเรื่องปกติด้วย จากการรวบรวมข้อมูลในปี 2560 นับตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2560 รวมระยะเวลา 1 ปี พบว่า รถไฟฟ้า BTS เกิดการขัดข้องทั้งหมด 52 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง
โดยนาย “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีปัญหาขัดข้องบ่อย เพราะหน่วยควบคุมการเดินรถ พบสัญญาณการเดินรถมีประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย เช่น ประตูทางเข้าเสีย และตัวรถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ จึงต้องสั่งให้มีการชะลอ หรือหยุดการเดินรถเพื่อแก้ปัญหาก่อน
2. ต่อแถวยาวเพื่อแลกเหรียญที่ห้องตั๋วโดยสาร เพื่อไปหยอดตู้ซื้อตั๋ว BTS อีกที
เป็นที่งงงวยของทั้งคนไทยและต่างชาติ ทำไมถึงซื้อตั๋วที่ห้องตั๋วโดยสารครั้งเดียวไม่ได้? และหากมีเหรียญไม่เพียงพอหยอดตู้ออกบัตรโดยสาร ผู้ใช้ BTS จะต้องเสียเวลาไปกับการต่อแถว เพื่อแลกเหรียญที่ห้องตั๋วโดยสารเพิ่ม ปัญหานี้สามารถพบเห็นคนตั้งกระทู้ผ่านเว็บไซต์พันทิปได้บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มตู้ที่สามารถรับธนบัตรได้เข้ามาเพิ่มแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสามารถเปลี่ยนทุกตู้ปัญหาดังกล่าวคงหมดไป
3. ค่าโดยสารแพงไม่มีตก
เรียกว่าใครที่เติบโตมาพร้อมกับรถไฟฟ้า BTS ต้องเผชิญกับปัญหานี้กันทุกคน แบบเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าไทยจะเผชิญสภาวะวิกฤตแค่ไหน หรือแม้แต่ BTS เอง พบว่ามีผู้ใช้รถไฟฟ้าลดลง แต่นั่นก็ไม่ทำให้ต้องลดราคาค่าโดยสารระบบขนส่งนี้แต่อย่างใด
แน่นอนว่าผู้ที่ทำงานในเมืองต่างต้องจำใจกัดฟันจ่ายค่าโดยสารแพงหูฉี่ เพื่อเดินทางไปทำงาน และหากคำนวณดูดี ๆ ค่าโดยสาร BTS ในแต่ละเดือน นั้นพอ ๆ กับค่ากินเชียว! ใครที่บอกว่ายิ่งเมืองเจริญ ค่าเดินทางของระบบขนส่งสาธารณะจะยิ่งถูกลง ใช้กับกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างนี้ไม่ได้เลย
4. ที่กั้นอัตโนมัติ ระเบิดสะโพก
ใครที่เดินช้า หรือสัมภาระเยอะ เป็นต้องมีพลาด โดนเจ้าที่กั้นอัตโนมัติของ BTS สีแดงนี้ ระเบิดสะโพกให้เจ็บช้ำกันบ้างหล่ะ ยิ่งถ้าผู้ชายเดินหันข้างออก แล้วโดนหนีบคงจุกมิใช่น้อย และด้วยความโหดของมัน ก็ทำให้มีผู้ตั้งแคมเปญขึ้นในเว็บไซต์ change.org โดยใช้ชื่อว่า “เปลี่ยนซะทีเหอะ…ที่กั้นรถไฟฟ้าให้มันไม่กระแทกสะโพกจนม่วง” โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 4,787 คน เนื่องจากที่กั้นปิดเร็วเกินไป ในหลายครั้งที่ไม่สามารถก้าวทันและโดนกระแทกอย่างแรงจนเป็นรอยช้ำ หากสามารถแก้ไขให้ความแรงลดลง หรือปิดช้าลงจะเป็นผลดี เพราะถ้าเด็ก คนชรา หรือสตรีมีครรภ์ ได้รับแรงกระแทกเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้
5. บันไดเลื่อนยวบยาบ
ความยวบยาบของขั้นบันไดเลื่อนบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของบันไดเลื่อนนั้น แต่ก็ไม่เคยมีใครเคยเจอเหตุร้าย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 มีหญิงสาวเกือบเดินตก “บันไดเลื่อนที่ยุบเป็นช่องโหว่” ที่สถานรถไฟฟ้า BTS พญาไท หากตกลงไปเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โชคดีหญิงสาวคนดังกล่าวเดินช้า ทำให้เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และ BTS ได้สั่งให้ตรวจสอบการทำงานของบันไดเลื่อนทุกตัว ในทุกสถานี เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก
6. ไม่อนุญาตให้รับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงิน
กฎระเบียบนี้ เรียกว่าเป็น Talk of The Town ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพราะใครจะไปรู้ว่า “การนัดรับ-ส่งของบริเวณประตูทางเข้า-ออกสถานี” ทำไม่ได้ โดย BTS ชี้แจงว่า ไม่อนุญาตให้มีการรับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงิน หากต้องการส่งของ หรือรับของ สามารถแตะบัตรเข้า-ออกให้อยู่ในเขตเดียวกัน เพื่อสะดวกในการพูดคุยกัน และไม่เป็นการกีดขวางผู้โดยสารท่าน
แต่นั่น ก็ไม่อาจหยุดคำวิจารณ์ของชาวไทยไปได้ เพราะการแตะบัตรเข้า-ออกให้อยู่ในเขตเดียวกัน ต้องเสียเงิน 15 บาท เพียงเพื่อเรื่องเล็กน้อย ทำไม่กี่เสี้ยววินาทีเท่านั้น
7. BTS ยังสร้างลิฟต์ไม่ครบทุกสถานี
เรื่องจริงสุดท้ายที่ผู้ใช้ BTS ต้องเจอ นับว่าเศร้าสุด คือ ลิฟต์ขึ้น-ลง BTS ที่ไม่ได้สร้างขึ้นรองรับผู้พิการตั้งแต่เริ่มต้น และเมื่อสร้าง ก็มีไม่ครบทุกสถานี และเมื่อสร้างเพิ่ม ก็มีนานาปัญหา เช่น สร้างไว้ให้ผู้พิการวีลแชร์ใช้โดยสารขึ้นลง แต่ดันสร้างกีดขวางทางเท้า ทำให้ไม่มีทางเดินให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้ (อย่างในภาพ) หรือมีปัญหาลิฟต์สถานีมีการออกแบบผิดพลาดเเละถูกล็อคไว้ตลอดเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่มาเปิดให้ ทำให้ผู้ติดอยู่ในลิฟต์ จนต้องตัดสินใจทุบกระจกลิฟต์ออกมาเอง เป็นต้น อย่าว่าแต่ผู้พิการเลย คนชรา เด็ก และสตรีมีครรภ์ยังลำบาก หากไม่มีลิฟต์อำนวยความสะดวกไปยังชานชาลา BTS
และแม้ว่า BTS จะถูกสร้างสร้างและเปิดให้บริการมายาวนานกว่า 18 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่า จะยังคงรักษาปัญหาคลาสสิกไว้ได้อย่างครบถ้วน และมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ไฟฟ้าให้ปวดใจอยู่เป็นระยะ
ที่มาข้อมูล PPTV, มติชน, ข่าวสดและ Facebook/รถไฟฟ้าบีทีเอส