สถานการณ์ติดเชื้อโควิดในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านของเรา ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง The Joi จึงได้รวบรวม “5 ประเทศอาเซียนที่กำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 สาหัสที่สุด! ในครึ่งปีหลัง 2564” มาอัปเดตให้ทุกคนดูกัน
1. อินโดนีเซีย
กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ในเอเชียแล้ว! หลังอินโดนีเซียพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ถึง 54,517 ราย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ทุบสถิติยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศ ซึ่งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก และพบผู้เสียชีวิตอีก 991 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสะสมมีทั้งหมด 69,210 รายแล้ว
แม้ว่าประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ได้ประกาศล็อกดาวน์เกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นที่ตั้งของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวง รวมทั้งเกาะบาหลี เกาะท่องเที่ยวชื่อดัง เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 แล้วก็ตาม ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะถึงแสนคนต่อวันเร็ว ๆ นี้ เพราะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น มีบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 350 คน ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม
สำนักข่าว อันทารา ของอินโดนีเซีย รายงานว่า ขณะนี้เตียงของโรงพยาบาลในอินโดนีเซีย ซึ่งมีมากกว่า 120,000 เตียง ตอนนี้เต็มไปแล้วกว่า 90,000 เตียง ส่วนราคาออกซิเจนพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เพราะเกิดภาวะขาดแคลนอย่างหนัก ถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 60 ราย ที่ศูนย์พยาบาลแห่งหนึ่งในเกาะชวา เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่เพิ่งผ่านมา
อีกทั้ง โครงการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซียยังประสบปัญหาความล่าช้า จนถึงตอนนี้มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แล้วเพียง 5.5 เปอร์เซ็นต์ โดยในกรุงจาการ์ตา มีผู้ได้รับวัคซีนครบเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรทั้งหมด 10.6 ล้านคน
2. ฟิลิปปินส์
กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 5,221 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 1,490,665 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 82 ราย ทำให้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสะสมที่ 26,314 ราย ซึ่งเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และในวันนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่เป็นการติดเชื้อในชุมชนครั้งแรก ด้วย
แม้ว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของฟิลิปปินส์ ได้อนุมัติการขยายมาตรการห้ามผู้เดินทางจาก 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เดินทางเข้าประเทศ ออกไปอีก 15 วัน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรกั้นไวรัสสายพันธุ์นี้ได้
3. มาเลเซีย
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่รุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัดซิน ของมาเลเซีย ต้องประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้น มาตรการดังกล่าว ก็ไม่สามารถยับยั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้จากเดิมที่จะสิ้นสุดการล็อกดาวน์ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ต้องประกาศเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยจะปลดล็อกดาวน์ก็ต่อเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศ ลดต่ำลงกว่า 4,000 รายต่อวัน
จนถึงขณะนี้ มาเลเซียมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 จำนวน 13,215 คน โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทะลุกว่า 13,000 คน มา 3 วันติดแล้ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศแล้วทั้งหมด 880,782 คน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในวันเดียวกันแตะ 110 คนแล้ว ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมมีจำนวนทั้งหมด 6,613 รายแล้ว
ด้านทีมผู้เชี่ยวชาญในมาเลเซียวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้การควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซียยังไม่ดีขึ้น เป็นเพราะมีการตรวจเชิงรุกและคัดกรองผู้ติดเชื้อน้อยมาก เมื่อบวกกับความร้ายกาจของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์หลายชนิด
ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซีย สั่งวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เพิ่ม 45.7 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอต่อประชาชน และเปลี่ยนมาใช้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนหลักแทนที่วัคซีนซิโนแวค จนถึงขณะนี้ มีประชาชนฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 8 ล้านโดส จากทั้งหมด 16 ล้านโดส โดยโดสที่เหลือจะใช้สำหรับฉีดเข็ม 2 เท่านั้น
4. เมียนมา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังสาหัส ในวันนี้ (16 กรกฎาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในวันเดียวทั้งหมด 4,188 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 165 คน เยอะเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน
และที่สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับชาวเมียนมามากที่สุดของวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เมื่อสถานีโทรทัศน์ของทางการเมียนมารายงานว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ในประเทศ 11 คน อีกทั้ง ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาเป็นครั้งแรก และพบสายพันธุ์อัลฟาในประเทศเป็นครั้งแรกแล้ว ด้านบุคลากรทางการแพทย์พากันผละงานทั่วประเทศ เพื่อประท้วงการก่อรัฐประหารของกองทัพ
ด้านคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ ชื่อทางการของรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศวันหยุดกรณีพิเศษ ต่อเนื่องนานถึง 9 วัน ระหว่างวันที่ 17-25 กรกฎาคมนี้ โดยภาครัฐจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด ทั้งขั้นตอนการป้องกัน การสอบสวนโรค และการรักษา แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งประชาชนสามารถออกจากบ้านได้ในยามจำเป็นเท่านั้น
นอกจากนี้ ประชาชนชาวเมียนมากำลังเผชิญปัญหาออกซิเจนขาดแคลนอย่างหนัก หลังต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และมีการแห่ซื้อถังออกซิเจนไปกักตุน ทำให้ราคาของสินค้าดังกล่าวพุ่งสูง
ขณะเดียวกัน นักธุรกิจไทยในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จังหวัดตาก ได้โพสต์ลง Facebook ชื่อว่า Aukaradej Tasalee ระบุว่า ชาวเมียนมาตายวันละ 400-500 คน เพราะวัคซีนไม่ได้ฉีด เตาเผาก็ไม่พอ ยารักษาก็ไม่มี นอกจากนี้ ยังได้นำภาพที่เพื่อน ๆ ชาวเมียนมาส่งมาให้ตน ถึงเรื่องราวสุดรันทด การที่ประชาชนชาวเมียนมาต้องนำศพคนที่รัก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก มารอฌาปนกิจ ซึ่งต้องรอนานกว่าจะได้เผา บางครั้งต้องรอนานกว่า 12-16 ชั่วโมง จนถึงหลายวัน บางรายรอนานจนศพเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็น
5. เวียดนาม
แม้แต่เวียดนามที่ขึ้นชื่อว่าควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีก็ไม่พ้นภัยเจ้าไวรัสสายพันธุ์นี้ โดยตลอด 3 วันที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วง 13 เดือนแรกรวมกัน และเมื่อคืนที่ 15 กรกฎาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อในวันเดียวสูงถึง 1,889 คน
ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามได้ออกคำสั่งใช้มาตรการล็อกดาวน์นครโฮจิมินห์ ห้ามประชาชนในเมืองกว่า 9 ล้านคนออกจากบ้าน ยกเว้นแต่การซื้อยาหรืออาหารเท่านั้น เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอก จนทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกล่าสุดเกินกว่า 8,000 ราย
ด้าน “ดิกกี บูดิมัน (Dicky Budiman)” นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย เตือนว่า เวลานี้อาเซียนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในการยับยั้งโควิดสายพันธุ์เดลตา และเริ่มเห็นผลกระทบจากการวางยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนที่ไม่ดีพอ รวมถึงมาตรการควบคุมโรคที่ยังคงหละหลวม
บูดิมัน เน้นย้ำความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องขยายทางเลือกวัคซีนชนิดต่างๆ เพื่อปกป้องชีวิตพลเมือง และชี้ว่าที่ผ่านมาหลายประเทศพึ่งพาแต่วัคซีน “ซิโนแวค” ของจีน เนื่องจากสั่งซื้อได้ง่าย ในขณะที่วัคซีนแบรนด์ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ายังขาดตลาด
ที่มาข้อมูล Reuters, CNN, Antara, ไทยรัฐออนไลน์, แนวหน้า, ThaiPBS