มันมีเส้นบางๆกั้นอยู่ระหว่างความโศกเศร้ากับความซึมเศร้า เป็นความแตกต่างที่เหมือนกัน ความเศร้า กับความซึมเศร้า นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่างที่บางคนเข้าใจ เรื่องแบบนี้ เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่เข้าใจผิด และการที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของทั้งสองสภาวะได้นั่นหมายความว่า มีหลายคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการ ขณะที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าที่แท้จริง ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นสภาวะที่สามารถรักษาได้นะ ส่วนความโศกเศร้านั้น มันเป็นความปกติของมนุษย์ ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าเป็นลักษณะอาการทางจิตเวชที่มีความผิดปกติอย่างหนึ่ง ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของทั้งสองแบบจึงสำคัญ
ในสังคมที่เราต่างก็รู้จักกันดีว่าโรคซึมเศร้ามันก็เหมือนนักฆ่าเงียบคนหนึ่ง มันเป็นนักฆ่าที่ไม่มีใบหน้า ไม่มีตัวตนหรือรูปร่างแบบเรา แต่มันจะมาในรูปแบบของความรู้สึกและแฝงเข้ามาจนกลายเป็นลักษณะของอาการทางจิตเวชนั่นเอง มันเป็นนักฆ่าเงียบที่ไม่เลิกเพศเลือกวัยหรืออาชีพ และเชื่อไหมว่ามันอาจเกิดขึ้นกับในทุกๆคนรวมถึงคุณ และอาจยังไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่ากำลังเป็นอยู่ นี่คือความแตกต่างระหว่างความโศกเศร้าและความซึมเศร้า 5 ข้อ ที่คุณจำเป็นต้องรู้ในวันนี้
1. ความสนใจในสิ่งที่คุณชอบ
เมื่อคุณเศร้าคุณอาจรู้สึกดิ่งถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคุณอยู่ หรือบางสิ่งที่คุณได้เผชิญมาและต้องรับมือกับมัน แต่ความรู้สึกจะไม่ทำให้คุณหยุดความสนใจได้อย่างต่อเนื่องให้กับสิ่งที่คุณชอบ คุณอาจจะกำลังเศร้าในวันนี้และในขณะที่คุณกำลังสัมผัสกับความรู้สึกเศร้านั้นๆอยู่ คุณก็ยังคงดูซีรีย์เรื่องโปรดของคุณต่อได้ หรืออ่านหนังสือ หรือยังสามารถมีจิตใจออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆต่อได้
ในทางกลับกันเมื่อคุณรู้สึกหดหู่ใจ(อาการซึมเศร้า) คุณก็จะสูญเสียความสนใจในชีวิตโดยทั่วไปทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดความน่าสนใจน้อยลง คือไม่มีกำลังจะทำอะไรต่อไป คุณจะขาดความเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ และกิจกรรมทุกอย่างที่คุณเคยชอบและเพลิดเพลินกับมัน เหมือนกับว่าคุณไม่รู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันอีกต่อไป คุณจะรู้สึกว่าชีวิตนี้มันช่างน่าเบื่อและสิ้นหวัง
2. อะไรที่ทำให้มันเกิดขึ้น?
ความโศกเศร้ามักเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่คุณเจอ แต่มันก็มีบางครั้งที่คุณบอกไม่ได้ว่าทำไมคุณถึงรู้สึกเศร้าอย่างกระทันหัน คุณอาจจะนึงถึงสิ่งที่มันเคยกระทบจิตใจของคุณ แต่อย่างไรก็ตามความรู้สึกเศร้ามันสามารถทำให้หายไปได้ง่ายๆ เมื่อคุณหากิจกรรมทำ หรือทำตัวยุ่งๆและคุณก็จะไม่รู้สึกเศร้าอีกต่อไป
ในขณะเดียวกันกับคนที่ซึมเศร้าพวกเค้าอาจจะตอบสนองในเชิงลบต่อเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ภาวะซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความสูญเสีย หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น และไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าเพียงสิ่งเดียว เราอาจใช้ชีวิตไปกับวันดี ๆ ที่สมบูรณ์แบบแต่แล้วเมื่อมีเมฆดำปรากฏขึ้นเหนือศีรษะ โลกที่เคยสดใสก็กลับหม่นหมองและขาดสีสันแห่งความสุขลงได้ เรียกได้ว่ามันมักจะเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีเหตุผลนั่นเอง และมักจะจมดิ่งกับความรู้สึกแบบนี้นานเป็นเดือนๆหรืออาจถึงปีก็เป็นได้
3. การจัดการกับกิจกรรมประจำวัน
ความเศร้าอาจจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพของการทำกิจกรรมประจำวันของคุณลดบ้างไปบ้าง อาจจะรู้สึกไม่อยากอาหารในตอนที่กำลังมีความรู้สึก แต่โดยรวมแล้วคุณก็ยังสามารถกินอิ่มและนอนหลับหรือออกกำลังกายตามต้องการได้ และพอคุณได้ออกไปดูหนังฟังเพลงพบเพื่อนๆข้างนอก คุณก็จะลืมความรู้สึกเศร้านั้นไป และยังทำกิจกรรมประจำวันของคุณได้เป็นปกติอย่างที่เคยทำ
ในขณะที่คนซึมเศร้ามักจะทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตตามปกติของคุณต้องหยุดชะงักลง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมลดลง เช่น คุณจะทำงานไม่ได้เลย คุณอาจนอนไม่หลับหรือไม่ก็หลับทั้งวันไปเลย วันๆอยากจะอยู่แค่ในห้อง นอนบนเตียง มองเพดานไม่ออกไปไหนเลย และคุณจะไม่รู้สึกหิว และเบื่ออาหาร กินอะไรไม่ลงไปเลย และมักจะเป็นอยู่ในระยะยาว
4. ความคงที่ของความรู้สึกไม่มั่นคงและไม่สำคัญในตัวเอง
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากผู้รู้สึกเศร้าและกำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าจะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงและไม่สำคัญ แต่ก็เส้นบางๆที่กั้นแยกระหว่างสองอาการนี้อยู่นะ
คนที่เศร้ามันเป็นเรื่่องปกติที่เขาหรือเธอนั้นจะหลงไหลในความเจ็บปวด และคิดว่าตัวเองไม่สำคัญต่อคนอื่นๆ ไม่มีใครรัก แต่เมื่อเศร้าจนพอก็จะสามารถ Move on ไปทำอย่างอื่นได้ต่อ อาจจะออกกำลังกายเพื่อลืมความเศร้า หรือย้ายที่อยู่ใหม่ ก็ทำให้ความเศร้านั้นหายไปได้แล้ว
ในทางตรงกันข้ามของคนที่มีอาการซึมเศร้า มักจะมีความรู้สึกที่ไม่เพียงแต่ความเศร้าเท่านั้น แต่เป็นความไม่มั่นคง และไร้ความหมาย ไร้ค่า แทนที่จะคิดถึงวิธีที่จะดึงตัวเองออกมาจากความรู้สึกนั้น แต่กลับปล่อยให้ความรู้สึกยิ่งจมดิ่งตามไป เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่า ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร พวกเขาก็จะยังคงไม่คู่ควรและไม่มีคนรักอยู่ดี และหากความคิดแบบนี้ยังดำเนินต่อไปล่ะก็ มันก็ยากมากที่จะชักชวนเขาให้ออกมาจากตรงนั้น
5. ประสบความคิดลงโทษตัวเองและทำร้ายตัวเอง
บางครั้งเมื่อเราเผชิญกับความโศกเศร้าอย่างมาก เราก็มักจะตำหนิตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราเรียนรู้ที่จะยอมรับมันว่าไม่มีอะไรที่เราสามาารถทำได้ไปซะหมด เราเรียนรู้จากสถานการณ์และเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในทางกลับกัน ก็ไม่สามารถพูดได้กับคนที่เป็นซึมเศร้า
นอกเหนือจากการหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บปวดของคนที่ทุกข์ทรมานจากอาการซึมเศร้าก็มีความอ่อนไหวต่อความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง และมักจะตำหนิตัวเองและลงโทษตัวเองอย่างรุนแรงเพื่อตอกย้ำความรู้สึก และหากมีอาการขั้นรุนแรงก็อาจจะถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายหรือมีแผนที่จะฆ่าตัวตาย เพราะเขาคิดว่าการตายนั้นเป็นวิธีเดียวของพวกเขา
คุณกำลังโศกเศร้าหรือซึมเศร้า ?
แม้ว่ามนุษย์จะมีหลากหลายอารมณ์ที่พัฒนาเป็นความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักก็คือ เราควรทำความเข้าใจว่าความสุข ความเศร้า ความเจ็บปวด ความหิวโหย ความอ่อนแอ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องยอมรับและอยู่กับมันอย่างเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นการปิดกั้นความรู้สึก ความคับข้องใจ และการทำร้ายตัวเองไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่การพูดคุยกับใครสักคนที่พร้อมจะเข้าใจควรเป็นตัวเลือกในลำดับต้น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นไปได้อย่างสวยงาม