วัคซีนป้องกันโควิด-19 Made in Thailand ก็มี! The Joi จะพาไปดูความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยฝีมือคนไทยแท้ ๆ มีทั้งหมด 3 ตัวด้วยกัน ดังนี้
1. Chula-Cv19
เป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกับ Pfizer และ Moderna เกิดขึ้นจากความร่วมมือของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศ. ดรูว์ เวสแมน จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ตอนนี้อยู่ใน Phase 2 จะเริ่มทดลองในคนระยะ 2 เดือนสิงหาคม 2564 โดยตั้งเป้าทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 150-300 คน และทดลองกับคนกลุ่มใหญ่ต่อไป
หนึ่งในความโดดเด่นของ Chula-Cov19 คือ สามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งนับว่าง่ายกว่าวัคซีน mRNA ชนิดอื่น ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า ขณะนี้ ทีมนักวิจัยกำลังทดลองต่อไปว่ามันสามารถเก็บในอุณหภูมิดังกล่าวถึง 3 เดือนได้หรือไม่?
ทีมนักวิจัยตั้งใจให้ Chula-Cov19 เป็นวัคซีนบูสเตอร์ช็อต ที่ออกมาเพื่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ และถ้าเป็นไปตามแผน คาดจะฉีดวัคซีน Chula-Cov19 ให้คนไทยได้ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปี 2565
2. วัคซีนใบยา
วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนชนิด Protein Submit เช่นเดียวกับวัคซีนไวรับตับอักเสบบี, ไข้หวัดใหญ่, อีโบลา รวมถึงวัคซีน Novavax (วัคซีนที่ได้ทุนสนับสนุนจากโครงการ COVAX) โดยมีทีมวิจัยจากบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด นำโดย ภญ.ดร. สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ รศ.ดร. วรัญญู พูลเจริญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
วัคซีนใบยานี้ จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเรา หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้ และมีความยืดหยุ่นในการปรับปรุงวัคซีน เพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มกลายพันธุ์อยู่ตลอด ได้อย่างรวดเร็ว
ขณะนี้ เตรียมเปิดรับอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี สุขภาพแข็งแรง และไม่เคยได้รับวัคซีน COVID-19 จำนวน 50 รายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ และจะเริ่มการทดลองในเดือนกันยายน 2564 ควบคู่ไปกับการทดลองวัคซีนใบยารุ่น 2 สำหรับรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ โดยจะเริ่มมีการทดลองในคนตั้งแต่ปลายปี 2564 นี้เป็นต้นไป
เชื่อว่าจะเริ่มฉีดในไทยได้ ราวกลางปี 2565 ในราคาโดสละไม่เกิน 500 บาท
3. HXP-GPOVac
HXP-GPOVac วัคซีนชื่อจำยากชนิดนี้ เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อตายผลิต เช่นเดียวกับ Sinovac และ Sinopharm ของจีน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การเภสัชกรรมของไทย
วัคซีนนี้ มีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างดีกับสายพันธุ์อัลฟา และขณะนี้กำลังทดลองเพิ่มเติมกับสายพันธุ์เบต้าและเดลต้า
ทีมผู้วิจัยเตรียมทดลองเฟส 2 โดยจะเลือกวัคซีนสองสูตรที่ดีที่สุดจากการทดลองในเฟส 1 แล้วลองฉีดในอาสาสมัครจำนวน 250 คน และมีเป้าหมายคือหาวัคซีนสูตรที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียว เพื่อทดลองในเฟส 3 ในอาสาสมัครจำนวน 4,000-10,000 ราย
คาดการณ์ว่าวัคซีน HXP-GPOVac จะสามารถฉีดให้กับคนไทยได้ภายในเดือนเมษายนปี 2565 โดยจะมีกำลังผลิตที่ 25-30 ล้านโดสต่อปี
โดยทั่วไป การทดลองยาและวัคซีนตัวใหม่ต้องใช้เวลากันหลายปี แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการอนุญาตให้มีการพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งด่วนในภาวะฉุกเฉิน
สำหรับขั้นตอนการวิจัยวัคซีน แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้
1. ระยะพรีคลินิก หรือระยะทดลองในสัตว์ทดลอง
ในระยะนี้กลุ่มผู้วิจัยจะทดลองฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ทดลอง เช่น หนู, ลิง และจะผ่านได้ก็ต่อเมื่อสัตว์ทดลองมีการตอบสนองต่อวัคซีนที่ดี และไม่เกิดผลข้างเคียงรุนแรง
2. ระยะคลินิกเฟส 1 เป็นระยะสำหรับหาปริมาณที่เหมาะสมของวัคซีน โดยมักจะใช้กลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเข้ามารับวัคซีนในปริมาณโดสที่แตกต่างกัน เพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมที่ในการฉีด
3. ระยะคลินิกเฟส 2 เป็นระยะสำหรับดูว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพแค่ไหน โดยทีมวิจัยจะเปิดรับอาสาสมัครในระดับร้อยรายขึ้นไป เพื่อทดสอบดูว่าปริมาณวัคซีนที่ให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และเป็นอันตรายหรือไม่
4. ระยะคลินิกเฟส 3 เป็นระยะสำหรับการทดลองในคนกลุ่มใหญ่ โดยจะแบ่งให้กลุ่มหนึ่งได้รับวัคซีนปลอม (Placboo) เพื่อดูว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพแค่ไหน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
5. ขึ้นทะเบียน อ.ย. หลังจากที่ผู้วิจัยได้ทดลองวัคซีนครบตามแนวทางแล้ว จะมีการยื่นเอกสารกับหน่วยงานรัฐเพื่อขอขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศนั้น ๆ ซึ่งในระยะนี้ยังมีการติดตามประสิทธิภาพและผลข้างเคียงต่อไป โดยเรียกว่าการเก็บข้อมูลแบบ Real World Data
และหากวัคซีนทั้ง 3 แบบตัว พัฒนาสำเร็จ จะเป็นเรื่องดีมากสำหรับคนไทย ที่สามารถลดการพึ่งพานำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ เข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่จับต้องได้ทุกกลุ่ม ที่สำคัญมีฉีดทุกปี เพราะไวรัสโควิด-19 คงไม่หายไปจากโลกนี้ง่าย ๆ และในอนาคตเราอาจต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 กันในทุกปี
ที่มาข้อมูล The Matter, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คมชัดลึก, ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ