ในแต่ละวันและแต่ละคนอาจเจอความเครียด เรื่องหงุดหงิดแตกต่างกันไป จนบางครั้งก็ระเบิดอารมณ์ด่าไฟแล่บใส่ทุกคนแบบไม่คิด แน่นอนว่านอกจากจะอารมณ์เสียแล้ว ยังเสียความรู้สึก ความสัมพันธ์ที่มีต่ออีกฝ่ายด้วย และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด “คุณ!” ในฐานะคนที่เปิดเครื่องด่าแบบไม่ยั้งอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นเรื่องเป็นราวได้
ดังนั้น เพื่อเป็นความรู้ติดตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของทุกคน The Joi เลยขอเสนอ 16 คำด่ายอดนิยมของคนไทยที่ผิดกฎหมายฎีกามาฝากทุกคน ที่ทราบแล้วอย่าได้ปริปากพูดออกไประหว่างสนทนาเชียวล่ะ!
1. อีดอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2521 จำเลยถ่มน้ำลายไปทางผู้เสียหายและด่าผู้เสียหายว่า พวกอีดอกดำ คำว่า “อีดอก” เป็นถ้อยคำหยาบคาย สามัญชนฟังแล้วเข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง ว่าผู้ถูกด่า เป็นหญิงไม่ดี
2. อีตอแหล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า “อีตอแหล มาดูผลงานของแก” เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า “การดูหมิ่นผู้อื่น” หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า “ตอแหล” ว่าเป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39
3. อีร้อยควย-อีดอกทอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2495 คำด่าว่า “อีร้อยควย อีดอกทอง” เป็นคำด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งหน้า ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 339(2)
4. อีเหี้ย-อีควาย-อีสัตว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2548 จำเลยด่าผู้เสียหายว่า “อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกู กินเงินไปหรือไง” และชี้มือไปที่ผู้เสียหาย ถ้อยคำดังกล่าว นอกจากจะเป็นคำหยาบคายแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบผู้เสียหายเป็นสัตว์ เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้า และกล่าวหาผู้เสียหาย ว่าผู้เสียหายว่าภริยาจำเลยของจำเลยเอาเงินของกลุ่มแม่บ้านไปใช้เป็นการส่วนตัว
5. เฮงซวย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 การดูหมิ่นผู้อื่น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง “การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย” การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดู หมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า “เฮงซวย” ว่าเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจ ว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหาย ว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
6. ไอ้หน้าโง่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542 การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า “มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหา บุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่ มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล” นั้นเห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่า “กูและมึงนั้น” เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็น “ผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้น” เป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของพ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่า “ไอ้หน้าโง่” นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกัน ก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม
7. ผู้หญิงต่ำ ๆ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537 จำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็น “ผู้หญิงต่ำ ๆ” ต่อหน้าผู้อื่นซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้า หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
8. ไอ้ระยำ-ไอ้เบื๊อก-ไอ้ตัวแสบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2538 หลังจากประธานที่ประชุมกล่าวเปิดประชุมแล้ว จำเลยได้พูดในที่ประชุม ซึ่งมีโจทก์และบุคคลอื่นรวมแล้วประมาณ 30 คน เข้าร่วมประชุมว่า “ผมข้องใจว่า ไอ้ผู้อำนวยการกองอุทธรณ์มันมานั่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ อ.ก.พ. นี้ได้อย่างไร ผมไม่เคยเสนอชื่อมัน” เมื่อประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงให้ทราบแล้ว จำเลยได้พูดขึ้นอีกว่า “ไอ้ระยำ มันไปล็อบบี๊มา เพื่อจะมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อเอาเบี้ยประชุมไปกินเปล่า ๆ” และจำเลยยังพูดอีกว่า “ไอ้เบื๊อก ไอ้ตัวแสบ มันแส่เข้ามานั่งหาอาวุธด้ามยาวอะไรในที่นี้” เพราะไม่พอใจโจทก์ แม้จำเลยจะชี้ หรือไม่ชี้หน้าโจทก์ ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อผู้อำนวยการกองอุทธรณ์และร้องทุกข์มีเพียงตำแหน่งเดียวคือโจทก์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
9. อีมารศาสนา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2525 คำว่า “มารศาสนา” ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึงบุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้า คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญและกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย จำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วย ถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย จึงต้องมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 393 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป
10. พระหน้าผี-พระหน้าเปรต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2527 จำเลยว่าโจทก์ว่า “พระหน้าผี พระหน้าเปรต ไปฟ้องกู กูไม่กลัว” โจทก์เป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปถือว่าควรเคารพ การที่จำเลยว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำด้งกล่าว จึงเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
ตอนนี้ทุกคนคงทราบแล้วว่า คำด่าไทยใดบ้างที่ห้ามพูดใส่คนอื่นเวลาสนทนา ถกเถียง หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะพูดซึ่งหน้า หรือลับหลังบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เพราะอาจเดือดร้อนตัวเองจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลได้ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ ทุกคนควรคิดก่อนพูดและไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ และอย่าใช้อารมณ์นำสมองและสติตัวเองเชียวล่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : รวมศัพท์วัยรุ่นจากชื่อ “ผลไม้” ฮิตติดโซเชียล 2021
ที่มาข้อมูล Facebook/นักศึกษานิติศาสตร์