เมื่อเอ่ยถึง “ประเทศอียิปต์” หลายคนคงนึกถึงพีระมิดกีซ่าและเรื่องราวเร้นลับที่ยังคงปริศนาที่ยังรอคำตอบอยู่ อีกทั้ง ดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์นี้ ยังมีประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณอันน่าหลงใหลให้สืบค้นและตามอ่านได้ไม่หยุดหย่อน เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ช่วงที่อาณาจักรอียิปต์โบราณรุ่งเรืองมานานเกือบ 3,000 ปี มีฟาโรห์ประมาณ 170 พระองค์ จาก 72 ราชวงศ์ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชย์ และผู้นำอาณาจักรไม่ได้มีแต่ฟาโรห์ผู้ชายเท่านั้น เพราะยังมีฟาโรห์ผู้หญิงขึ้นครองราชย์ด้วย เรียกว่าล้ำสมัยมาก่อนราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุคหลังคริสตศักราชเสียอีก
แต่น่าเสียดายด้วยหลักฐายทางประวัติศาสตร์อียิปต์ที่เหลือน้อยนิด ทำให้ในอดีตไม่มีใครสามารถสร้างภาพขึ้นมาให้พวกเราเห็นได้ชัดเจนว่า ฟาโรห์ที่นักประวัติศาสตร์ขุดค้นพบในสุสานฟาโรห์หน้าตาจริงเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกของเราในศตวรรษที่ 21 มีเทคโนโลยีทางนิติเวช, ทางการแพทย์ และ AI ที่ล้ำสมัยมากขึ้น เมื่อผนวกเทคโนโลยีทั้งหมดแล้ว ก็สามารถจำลองใบหน้าจริงของ 7 ฟาโรห์และราชินีแห่งอียิปต์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยอียิปต์โบราณขึ้นมาได้เกือบสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และนี่คือผลลัพธ์ที่ได้…
1. คลีโอพัตรา (Cleopatra)
“คลีโอพัตรา” เป็นฟาโรห์หญิงพระองค์สุดท้ายแห่งอียิปต์ ผู้ถูกกล่าวขานผ่านบทเพลงและวรรณกรรม รวมทั้งสื่อบันเทิงต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันว่า มีสิริโฉมงดงาม ขนาดทำให้ยอดขุนศึกอย่าง “จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)” และยอดนักรบแห่งโรมัน “มาร์ค แอนโทนี (March Anthony)” ยอมสยบต่อพระนาง นอกจากนี้ ยังเป็นที่เลื่องลือว่า พระนางมีสติปัญญาที่เฉียบแหลมเก่งคณิตศาสตร์ รวมทั้งการเมืองการปกครอง จนสามารถนำอียิปต์กลับมาสงบสุขและมั่งคั่งอีกครั้ง
แต่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์บางแห่งได้อธิบายรูปโฉมของ “คลีโอพัตรา” แตกต่างออกไป บ้างก็ว่าหน้าตาธรรมดา หรือบ้างก็บอกว่าเป็นหญิงสาวที่มีจมูกงุ้มและดูเหมือนผู้ชาย
2. เมรีตามุน (Meritamun)
“เมรีตามุน” ในภาษาอียิปต์แปลว่า “ผู้เป็นที่รักของเทพอามุน” เป็นราชินีแห่งอียิปต์ในสมัยต้นราชวงศ์ที่สิบแปด หรือเมื่อ 2,000 ปีก่อน พระนางเป็นทั้งพระขนิษฐา (พี่สาว) และพระชายา (ภรรยา) ของ “ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 1″ แต่น่าเศร้า พระนางสิ้นพระชนม์ตอนยังสาว
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่เกี่ยวกับ “เมรีตามุน” นั่นก็คือ กะโหลกศีรษะ ด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบหลักฐานทางเนติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี AI ที่ก้าวหน้ามากในปัจจุบัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่า นอกจากพระนางจะมีสิริโฉมงดงามแล้ว ยังทราบช่วงอายุที่สิ้นพระชนม์ คือ ประมาณ 18-25 ปี และขณะนี้กำลังศึกษาหาคำตอบลึกลงไปอีกว่า ช่วงที่พระนางมีพระชนม์ชีพเสวยอะไรบ้าง รวมทั้งโรคอันเป็นเหตุให้พระนางถึงแก่ความตายด้วย
3. ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 หรือฟาโรห์แรมซีสที่ 2 (Ramesses II)
“ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2” เป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของราชวงศ์ที่ 19 ของอียิปต์โบราณ ทรงครองราชย์ตั้งแต่ปี 1278-1212 ก่อนคริสตศักราช พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถและยังเป็นนักรบที่เก่งกาจ ในสมัยของพระองค์อียิปต์เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งจากการค้า ทำให้มีการก่อสร้างเทววิหารและอนุสาวรีย์มากมาย เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และมหาวิหารที่โด่งดังที่สุดที่ก่อสร้างขึ้นในยุคของ “ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2” คือ “มหาวิหารอาบูซิมเบล” ซึ่งแกะสลักเป็นรูปพระองค์และ “พระราชินีเนเฟอร์ตารี (Nefertari)” พระมเหสีของพระองค์
นอกจากนี้ “ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2” ยังได้ปราบปรามชาวนูเบียทางตอนใต้จนยอมสวามิภักดิ์และได้ขยายอำนาจเข้าไปในเอเชีย ด้วยการปราบปรามชนเผ่าต่าง ๆ จนราบคาบ จากการขยายอำนาจครั้งนี้เองทำให้จักรวรรดิอียิปต์ต้องปะทะกับจักรวรรดิฮิตไตท์ ซึ่งเป็นมหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางในเวลานั้น โดยชาวฮิตไตท์ (Hittite) ตั้งถิ่นฐานบนคาบสมุทรอนาโตเลีย ปัจจุบันคือ ประเทศตุรกี มีความสามารถในการหลอมโลหะและเป็นพวกแรกที่นำเหล็กมาใช้งาน
จากร่างมัมมี่ของพระองค์ที่ขุดพบในอียิปต์ ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจำลองใบหน้าจริงของ “ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2” ออกมาได้ละเอียด แถมยังแสดงให้เห็นภาพตอนหนุ่มและตอนชราได้อีกด้วย
4. ฟาโรห์ตุตันคามุน (Tutankhamun)
และใบหน้าของฟาโรห์ที่คนในยุคปัจจุบันเห็นบ่อยมากที่สุดบนศิลปะแขนงต่าง ๆ ของอิยิปต์ ไม่ว่าจะบนฝาโลง, จิตรกรรมฝาผนัง ไปจนถึงประติมากรรมต่าง ๆ ก็คือ พระพักตร์ของ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” เป็นฟาโรห์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ มีพระชนม์ชีพช่วงปี 1341-1323 ก่อนคริสตกาล และครองราชย์ยาวนาน 9 ปี ช่วงปี 1332-1323 ก่อนคริสตกาล
การครองราชย์อันแสนสั้นของ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” เป็นช่วงก่อนที่อาณาจักรอียิปต์จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในยุคโบราณ และยังเป็นช่วงเวลาที่ระบบศาสนาของอาณาจักรเป็นไปตามประเพณีดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ช่วงการปกครองของฟาโรห์พระองค์นี้ยังมีเรื่องที่เป็นปริศนาอยู่ เช่น ชื่อของพระมารดาของ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” ไม่เคยปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผู้คนต่างเอ่ยถึงเธอว่า “พระนาง” เท่านั้น
และในปี 2014 มีการใช้เครื่องมือ CT Scan, การวิเคราะห์พันธุกรรม และการแสกนดิจิทัลร่างมัมมี่ของ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” มากกว่า 2,000 ภาพ กลับพบกับผลภาพที่น่าตกใจคือ ฟาโรห์อียิปต์พระองค์นี้มีรูปร่างที่แปลกจากปกติ คือมีรอยกัดของสัตว์, สะโพกที่ผิดรูปเล้กน้อย และเป็น “โรคเท้าปุก” เกิดจากความผิดปกติของเท้ามักผบมากในเด็กตั้งแต่แรกเกิด โดยเท้าจะบิดผิดรูป
5. เนเฟอร์ติติ (Nefertiti)
“เนเฟอร์ติติ” เป็นราชินีของ “ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4” แห่งอียิปต์โบราณ (ภายหลังได้เปลี่ยนพระนามมาเป็น “แอเคนาเทน”) และพระสัสสุ (แม่สามี) ของ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” ในบางบันทึกทางประวัติศาสตร์อียิปต์ระบุว่า “เนเฟอร์ติติ” อาจเคยขึ้นเสวยราชสมบัติครองบัลลังก์อียิปต์เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากพระราชสวามีสวรรคต และก่อนที่ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” จะเถลิงราชสมบัติ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ
แต่ที่แน่ ๆ “เนเฟอร์ติติ” เป็นราชินีอียิปต์ที่สิริโฉมงดงามพระองค์หนึ่ง เรียกว่าสูสีตีคู่มากับ “คลีโอพัตรา” และความงามของพระองค์ก็คาดว่า ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อลูกปัดทองคำยาวรีของอียิปต์ที่เรียกว่า “เนเฟอร์” และถึงแม้ว่าพระองค์จะเสวยสุขในรัชสมัยของอียิปต์ที่รุ่งเรืองมากยุคสมัยหนึ่ง แต่ประวัติของพระองค์กลับคลุมเครือ และจากรูปปั้นที่จำลองใบหน้าของพระองค์ไว้เมื่อหลายพันปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการจำลองใบหน้าจริงของ “เนเฟอร์ติติ” ขึ้นมาได้สมจริงมาก ๆ
6. พระราชินีตียี (Tiye)
“พระราชินีตียี”หรือบางคนก็อ่านว่า “พระราชินีตีเย” เป็นพระมเหสีใน “ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3” และยังทรงเป็นพระราชมารดาของ “ฟาโรห์อาเคนาเตน” รวมทั้งพระอัยยิกาของ “ฟาโรห์ทุตอังค์อามุน” มัมมี่ของพระองค์ได้รับฉายาว่า “สตรีผู้สูงวัย” ซึ่งค้นพบในหลุมฝังพระศพของ “ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 2 (KV35)” เมื่อปี 2010
และรูปพระศพของ “พระราชินีตียี” พระอัยยิกาของ “ฟาโรห์ตุตันคาเมน” ยังกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียลในปี 2022 ด้วย เพราะพระเกศาของพระองค์ยังคงยาวเป็นลอนสรวยสวยเก๋อยู่ทรงปังมาก จนสาว ๆ ยุคปัจจุบันที่อยากผมหยักศกหรือหยิกยังต้องอิจฉา
7. ฟาโรห์แฮตเชปซุต (Hatshepsut)
อีกหนึ่งฟาโรห์หญิงที่มีการจำลองใบหน้าจริงขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี AI ก็คือ “ฟาโรห์แฮตเชปซุต” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 ในราชวงศ์ที่สิบแปดของอียิปต์โบราณ ซึ่งเป็นผู้หญิง และเป็นที่รู้จักอย่างมากในฐานะ “ราชินีมีเครา” เพราะพระนางมักสวมเคราปลอมเหมือนฟาโรห์ผู้ชาย นอกจากนี้ พระนางยังได้แต่งตำนานเกี่ยวกับประสูติกาลของตัวเองว่า “เมื่อ “เทพอามุน” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนครธีบส์ หลงรักหญิงงามนามว่า “อาโมส” เทพองค์ดังกล่าวได้เข้าหานางและมีสัมพันธ์สวาท โดย “เทพอามุน” ได้แต่งตั้งบุตรสาวในครรภ์ของ “อาโมส” ให้เป็นผู้นั่งบัลลังค์ฮอรัสตลอดไป” ผลจากการแต่งเรื่องดังกล่า ก็ทำให้ไม่มีประชาชนหน้าไหนกล่าวหาพระนางได้อีกว่า ไม่คู่ควรกับบัลลังก์
นอกจากนี้ พระนางยังมีพระราชกรณียกิจในการบำรุงเศรษฐกิจของอียิปต์ และค้าขายกันกับดินแดนพันท์และได้ของมีค่ามากมายกลับมาอีกด้วย ทำให้ราษฎรอยู่ดีกินดีและมีความสุข
เพื่อน ๆ เห็นใบหน้าจริงของฟาโรห์และราชินีอียิปต์ทั้งหมดกันแล้ว หน้าตาจริงของพวกเขาเป็นไปอย่างที่คิดไว้ก่อนเห็นภาพจำลองเหล่านี้กันรึเปล่า? แวะมาพูดคุยกับ The Joi กันได้ทาง Inbox บน Facebook และ Instagram และอย่าลืมกดติดตามโซเชียลมีเดียของพวกเราทุกช่องทางกันด้วยล่ะ!
ที่มาข้อมูล: My Modern Met และ Realm of History
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผยโฉมหน้า “7 เจ้าชายแห่งนรก” ตามคำบรรยายในพระคัมภีร์ไบเบิล
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผยภาพหน้าตาเทวดาจริง ๆ ทั้ง 4 ตามคำบรรยายในพระคัมภีร์ไบเบิล
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ส่องรูปตัวละครซีรีส์ “House of the Dragon” เมื่อให้ AI “Dall-E2” สร้างภาพจากข้อความในหนังสือ “Fire & Blood”