ชาวเน็ตเดือด! ดัน #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ ติดท็อป 10 เทรนด์ทวิตเตอร์ในไทย! หลังศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มออกมาว่า “เหตุใดศาลจึงมองว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานที่อนุญาตให้แค่คู่รักชายหญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” เมื่อวานนี้ (2 ธันวาคม 2564)
การเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ชาวเน็ตมองว่านี่เป็นการกีดกันและเหยียดเพศทางเลือก (LGBTQI+) หลายคนที่ตามเรื่องนี้ไม่ทัน หรืออาจยังสงสัยว่ามีอคติ กีดกัน หรือเหยียดเพศอย่างไร? งั้นไปดูสรุปคร่าว ๆ ของคำวินิจฉัยดังกล่าวที่เป็นประเด็นดราม่าตอนนี้ ทางด้านล่างกันเลย
1. การสมรสมีเป้าหมายเพื่อสืบเผ่าพันธุ์
ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัยดังกล่าว ย่อหน้าที่ 11 ว่า…
“ความหมายของการสมรสหมายถึงการที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ภายใต้ศีลธรรม จารีตประเพณี หลักศาสนา และกฎหมายของแต่ละสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม เพื่อผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคมและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบทบาทที่เชื่อมโยงกับสถานบันอื่น ๆ ของสังคม การสมรสจึงสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงตามเพศที่กำเนิดให้สามารถเป็นคู่สมรส เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้”
ย่อหน้าเดียวกันยังระบุอีกว่า “ความรักของคนเพศเดียวกันเป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ”
2. กฎหมายสมรสชายหญิงมีที่มาจากจารีตประเพณี
ย่อหน้าที่ 12 ระบุว่า…
“กฎหมายจะบังคับใช้ได้ยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศนั้น ๆ เพราะขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น กฎหมายตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีในแต่ละประเทศจึงอาจแตกต่างกัน ในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีสังคมไทย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมา ว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน”
ย่อหน้าเดียวกันนี้มีข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า…
“การที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครบอครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้”
3. มาตรา 1448 ไม่ได้ห้ามกลุ่มเพศหลากหลายอยู่กินกัน
ช่วงท้ายของย่อหน้าที่ 12 ระบุว่า…
“กฎหมายมิได้บังคับให้ชายหญิงทุกคู่ต้องสมรสกัน บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ต้องทำตามแบบของกฎหมาย ดังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จึงไม่ได้จำกัดเสรีภาพของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในการอยู่ร่วมกัน และมิได้มีข้อความไปจำกัดสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในการทำนิติกรรมใดๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม”
4. ต้องกำหนดชายหญิง เพราะชายหญิงเสมอภาค แต่ไม่เหมือนกัน
ข้อความตอนหนึ่งในย่อหน้าที่ 13 ระบุว่า…
“นัยความหมายของความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิง มิใช่การบัญญัติกฎหมายให้ชายเป็นหญิงหรือให้หญิงเป็นชายเพราะเพศนั้นเป็นการแบ่งแยกมาโดยธรรมชาติ (An Act of God) ซึ่งเพศที่ถือกำเนิดมานั้นเลือกไม่ได้”
“การให้ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง จึงมิใช่การให้ถือว่าเหมือนกัน แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับเพศสภาพของบุคคลนั้น ๆ”
5. รัฐไม่เสียเวลาพิสูจน์ความถูกต้องของการเบิกค่าใช้จ่าย
ย่อหน้าเดียวกันนี้มีข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า…
“เมื่อพิจารณาถึงการสมรสระหว่างหญิงชายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในด้านสวัสดิการของรัฐก็สามารถทำได้ง่าย เช่น การลาคลอด การลาบวช การเบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น หากไม่ได้กำหนดเพศไว้ สำหรับกรณีดังกล่าวและเกิดกรณีสามีเบิกค่ารักษามะเร็งปากมดลูก ภริยาเบิกค่ารักษาต่อมลูกหมาก สามีเบิกค่าทำคลอด ทำให้ต้องมีการพิสูจน์ทั้งสภาพเพศและมีใบรับรองแพทย์ในทุกกรณี เมื่อคำนึงถึงสัดส่วนที่พึงจะเกิดขึ้นจึงเป็นการเพิ่มภาระให้รัฐและทำให้สิทธิของสามีภริยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ ซึ่งเป็นมหาชนต้องถูกตรวจสอบไปด้วย ทำให้เกิดความล่าช้า มีอุปสรรค ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปโดยปริยาย”
6. เสี่ยงเปิดช่องจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังสวัสดิการของรัฐ
ยังไม่จบเท่านั้น ย่อหน้านี้มีความตอนหนึ่ง ระบุว่า…
“การไม่กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) มาจดทะเบียนสมรส เพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
7. กฎหมายปัจจุบันไม่ห้ามคู่รักทำพินัยกรรม-มีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สิน
ย่อหน้าที่ 14 มีข้อความระบุว่า…
“รัฐธรรมนูญและกฎหมายปัจจุบันมิได้ห้ามบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กัน มิได้ห้ามการจัดพิธีแต่งงาน มิได้ห้ามทำประกันชีวิตระบุให้คู่ชีวิตเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ มิได้ห้ามทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่คู่ชีวิต และทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็มิได้ห้ามมิให้เป็นกรรมสิทธิ์รวม”
8. สิทธิ์เซ็นผ่าตัด, สวัสดิการและเรียกค่าเสียหาย ไปแก้ในกฎหมายอื่นได้
เช่นกัน ย่อหน้าที่ 14 นี้ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า…
“การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการของคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิ์การเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิ์ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมนั้น เห็นว่าสิทธิ์ดังกล่าวมิได้เกิดจากสถานภาพการสมรสโดยตรง แต่เป็นสิทธิ์ที่เกิดขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ปัญหาดังกล่าวจึงสามารถแก้ไขโดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ ดังเช่นที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …”
9. ควรออกกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับสิทธิ LGBTQI+
ย่อหน้ารองสุดท้ายของคำวินิจฉัยนี้ ระบุว่า…
“เมื่อบริบทสังคมโลกและสังคมไทยในปัจจุบันยอมรับ และเริ่มมีการให้สิทธิแก่บุคคลเกี่ยวกับสถานะทางเพศอย่างกว้างขวางมากขึ้น รัฐควรมีมาตรการที่เหมาะสมและสนับสนุนให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยการตรากฎหมายเฉพาะ เพื่อให้สิทธิ์และเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ”
สำหรับผู้ที่สนับสนุนให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1448 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดทางให้คู่รักที่มีเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงานและได้รับสิทธิต่าง ๆ ทัดเทียมกับคู่รักชายหญิง ฉบับดราม่านี้ มีจำนวนกว่า 235,000 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ไบร์ท วชิรวิชญ์” นักแสดงชายชื่อดังที่แจ้งเกิดจากการแสดงในซีรีส์วายไทยด้วย
ที่มาข้อมูล: ไทยรัฐ และ Sanook
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: “เบ๊น อาปาเช่” หนุน ค้าประเวณีให้ถูกกฎหมาย หลังมีเว็บไซต์ขายบริการโจ่งครึ่ม
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผย “16 คำด่ายอดนิยมผิดกฎหมายตามฎีกา” ที่ทุกคนต้องรู้!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: 10 ภาพยนตร์แบ่งชนชั้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จี้ใจดำ ที่ต้องดูก่อนตาย!