นับตั้งแต่ครอบครัวน้องก้อง เหยื่อถูกหลอกขายมือถือผ่านอินสตาแกรม “phonebymint” เข้าแจ้งความกับตำรวจเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ตำรวจยังคงตามล่าตัวการใหญ่ “พิยดา ทองคำพันธ์” เจ้าของร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวไม่พบ แต่ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศให้ ปปง. ยึดและอายัดทรัพย์ และแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 กระทง
เมื่อวานนี้ (26 กันยายน 2564) “พ.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง” ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช. สอท.) ได้สั่งชุดสืบสวนของบช. สอท. ลงพื้นที่หาข่าว เพื่อติดตามตัว “พิยดา ทองคำพันธ์” ที่หลอกขายมือถือเด็กม. 2 จนเด็กเกิดความเครียดเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด และจากข่าวกรองล่าสุดทราบว่า “พิยดา” ยังคงหลบหนีอยู่ในประเทศ และได้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 ข้อหา ได้แก่ ฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม. 14(1)
ขณะเดียวกันสำนักงานปปง. ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่องให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์จากการกระทำความผิดมูลฐาน ด้วยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวของ “พิยดา ทองคำพันธ์ กับพวก” 10 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ
สำหรับประวัติย่อของ “พิยดา ทองคำพันธ์” เปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านทางอินสตาแกรมชื่อ “phonebymint” มีผู้ติดตามกว่า 60,000 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “น้องก้อง” จากจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง (มีผู้เสียหายมากกว่า 500 คน) ทำมานานกว่า 5 ปี หรือตั้งแต่อายุ 16 ปี มีเงินหมุน 35 ล้านบาท
มีรสนิยมชอบใช้ชีวิตหรูหรา ตำรวจเคยจับได้ว่าหนึ่งในบัญชีที่ใช้โกง คือ บัญชีแม่ที่ตายไปแล้ว ใช้เบอร์และบัญชีแม่ของตัวเองมาโกง และยังใช้วิธีจ้างเปิดบัญชีธนาคารโดยให้ค่าจ้างหัวละ 8,000 บาท อีกด้วย
สำหรับผู้เสียหาย สามารถแจ้งความกับ “ปปง.” ซึ่งเปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย “นางสาวปราณี ปักษีเลิศ กับพวก” และ “นางสาวพิยดา ทองคำพันธ์กับพวก” ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2564 (ในวัน-เวลาราชการ)
ยื่นเอกสารคุ้มครองสิทธิ์ได้ที่นี่ https://www.amlo.go.th/index.php/en/news/detail/12042
ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องคุ้มครองสิทธิได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
1) ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน ณ สำนักงานปปง. ในวัน-เวลาราชการ
2) ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (จ่าหน้าซองมาที่ “สำนักงาน ปปง.” เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บมุมซองด้านบนว่า “ส่งแบบคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ รายคดี……………………………”)
ที่มาข้อมูล เดลินิวส์, ผู้จัดการออนไลน์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , ปปง. และ Facebook/ภัทษลัลฎาค์ เกิดพงษ์