แม้ว่ากระแสไลฟ์สดสอนธรรมะของ “พระมหาไพรวัลย์” จะได้รับกระแสตอบรับดีและได้ใจประชาชนอย่างท้วมท้น แต่หากมองในมุมของนักวิชาการกลับมองเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า “การปฏิบัติของพระสงฆ์ทั้งสองเป็นความเสื่อมของศาสนาและเป็นพฤติกรรมที่หย่อนยานในพระธรรมวินัย”
“ดร. มงคล นาฏกระสูตร” อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และอดีตผู้ชำนาญการสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ “พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง” พระประจำวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร ไลฟ์สนทนาธรรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ดังนั้น จะมาเป็น พส. เหมือนกันไม่ได้ ไม่ใครก็ใครจะต้องสู่ขิต” ผ่านโพสต์เฟซบุ๊กของตัวเอง “Mongkol Nath” เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ว่า ในหัวข้อ “พส.ตลกไลฟ์สด : ท้าทายศรัทธาไทย” โดยมีใจความว่า
“กรณีพระวัดสร้อยทอง 2 รูป ได้ทำการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊กอย่างตลกโปกฮา… มีคนติดตามจำนวนมาก กลายเป็นที่กล่าวขวัญ (Talk of The Town) ว่า เหมาะสมมากน้อยเพียงใด หรือทำได้หรือไม่ เมื่อตนห่มจีวรกาสายะ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์อยู่ เรื่องนี้จึงท้าทายต่อศรัทธาและสติปัญญาของชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ที่พระทั้ง 2 กล้าทำเช่นนี้มีสาเหตุมาจากอะไร” ซึ่งการไลฟ์สดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมที่หย่อนในพระธรรมวินัย 5 ข้อ สามารถแจกแจงได้ ดังนี้
นิยมพระตลก : สัญญาณความเสื่อมของพระศาสนา
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ในกิมพิละสูตร อังคุตรนิกายว่า “ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน นี้แลกิมพิละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้พระสัทธรรมอยู่ไม่ได้นาน”
การที่ผู้คนเป็นแสนมาเข้าชมพระพูดตลกโปกฮา เพื่อเรียกยอดไลค์ เรียกยอดโฆษณา เป็นสัญญาณหนึ่งชาวพุทธตระหนักว่าศาสนาของเราจะอยู่ยาวนานหรือไม่
พูดตลกคะนอง : ผิดทั้งธรรมและวินัย
พระพุทธองค์ห้ามพระพูดตลกคะนองและพูดเรื่องชาวบ้าน ห้ามพูดเดรัจฉานกถา เช่น พูดเรื่องทางโลก เป็นต้น และในพระวินัยมหาวิภังค์ ตรัสไว้ว่า ภิกษุไม่พึงเปล่งคำตลกคะนอง ปรารภพระรัตนตรัยโดยปริยายใด ๆ มีโทษชัดเจน แต่ยังกล้าขัดพระวินัยและชาวบ้านก็ติดตามเป็นอันมาก… เป็นสิ่งที่น่าห่วงใย
สร้างพรรคพวก : เพื่อปกปิดพฤติกรรมตน
ยุทธวิธีของพระกลุ่มนี้ คือ หาพรรคพวก สร้างความนิยมในหมู่ประชาชน ผ่านสื่อสารมวลชนและกลุ่มการเมือง เพื่อเป็นเกราะกำบังปกปิด พฤติกรรมที่หย่อนยานในพระธรรมวินัยของตนและพวกตน เพราะเมื่อถูกตรวจสอบ ก็จะมีกลุ่มพรรคพวกออกมาช่วยว่าถูกรังแกจากฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้มองข้ามเลยหลักพระธรรมวินัยไป
สงฆ์หิวแสง : เพราะปกป้องผลประโยชน์
พระที่ใช้สื่อโซเซียลสร้างชื่อเสียง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรู้นะรู้โม ล้วนมีวาระซ่อนแอบอยู่หลังฉาก เช่นเป็นเครื่องมือนักการเมืองที่ฝักฝ่าย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในการชิงอำนาจการเมืองและการเมืองในคณะสงฆ์เอง หรืออาจจะมาจากเรื่องความขัดแย้งเรื่องนิกายที่ตนสังกัด ดูเหมือนออกมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ แต่แท้ที่จริงเป็นแค่ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและคณะสงฆ์เท่านั้น
ช่วยปกป้องพระดี : เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน
ในปัจจุบันยังมีพระดีมากมายในบ้านเมืองที่รักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ค่อยมีชื่อมีเสียง เพราะถูกพระผู้ไม่ค่อยมีความละอาย แย่งซีนในสื่อสารมวลชนไปแทบไปหมด เนื่องด้วยพุทธศาสนิกชน ไม่มีเวลาสนใจพระศาสนา เหมือนคนศาสนาอื่น ๆ
พระที่มีความเป็นสมณะ สงบ บริสุทธิ์ด้วยศีลาจารวัตร ยังมีมากพอ แต่ชาวพุทธต้องมีสติปัญญามากพอที่มองเห็น อย่าไปสนับสนุน หรือให้กำลังแก่พระอธรรมวาทีเลย เพราะเป็นแค่สัญลักษณ์ของพระศาสนาเท่านั้น ทำบุญไปจะไม่ได้บุญ ปฏิบัติตามคำสอนของพระพวกนี้แล้วจะประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต คราวนี้เป็นความท้าทายศรัทธาของชาวพุทธอีกครั้งว่าจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้กับบ้านเมืองของเราต่อไปอย่างไร ขอให้พระพุทธศาสนา จงตั้งมั่นต่อไปตลอดกาลนาน
การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ “พระมหาไพรวัลย์” และ “พระมหาสมปอง” เกิดขึ้นหลังพระทั้งสองรูป ได้จัดไลฟ์สดภายใต้คอนเซ็ปต์ “ดังนั้น จะมาเป็น พส. เหมือนกันไม่ได้ ไม่ใครก็ใครจะต้องสู่ขิต” จนมียอดคนดูพร้อมกัน 2 แสนกว่าคน นอกจากนี้ Official Page ของแบรนด์สินค้า สำนักข่าว คนดังต่าง ๆ ก็เข้ามาร่วมชมไลฟ์และคอมเมนต์กันเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ โดยพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
ที่มาข้อมูล ผู้จัดการออนไลน์