วัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137 (Caesium-137)” ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำของ “บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5A จำกัด (NOS 5a)” ในจังหวัดปราจีนบุรีตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แบบไร้ร่องรอยว่าใครเอาไป? แล้วนำออกไปโดยไม่มีใครเห็นได้อย่างไร?
เพราะวัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นแท่งทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนักมากถึง 25 กก. มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโล ซึ่งเป็นถังเก็บสารหรือวัสดุของโรงไฟฟ้าฯ แต่หลังเรื่องนี้ดังเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ จึงมีการสืบเส้นทางเคลื่อนย้ายวัตถุอันตรายนี้ พบว่าปลายทางอยู่ที่โรงหลอมเหล็กในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยพบถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง
คำถามต่อมาคือ “วัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137″ ถูกหลอมรวมกับเหล็กไปแล้วหรือยัง?” เพราะ “นายรณรงค์ นครจินดา” ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ออกมายืนยันว่า วัตถุอันตรายนี้ถูกหลอมกับเหล็กแล้วหรือไม่ แต่พบฝุ่นเหล็กแดงบริเวณโดยรอบโรงงานหลอม ที่ตรวจได้ว่าฝุ่งดังกล่าวคือ “ฝุ่นซีเซียม” จริง ขณะที่โรงงานหลอมเหล็กได้สั่งหยุดงานลูกจ้างจำนวน 70 คนแล้ว พร้อมกับปิดกั้นพื้นที่โดยรอบเพื่อความปลอดภัย
ด้านชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ก็ยังคงพูดถึง “ซีเซียม-137” และตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย และการป้องกันสารกัมมันตรังสีดังกล่าว จนดันแฮชแท็ก “#ซีเซียม137” ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ (Twitter) โดย “นายสนธิ คชวัฒน์” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ก็ได้ออกมาตอบข้อสงสัยดังกล่าวของชาวเน็ตบนหน้า “Facebook” ส่วนตัวชื่อว่า “Sonthi Kotchawat” ระบุข้อความว่า…
“1. ข้อมูลกรมโรงงานแท่ง Cs-137 ถูกหลอมกับเศษเหล็กแล้วที่โรงงานเคพีพีซึ่งเป็นโรงงานหลอมเหล็กในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตัน ในโรงงานไปสู่กระบวนการรีไซเคิลที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2566
2. กระบวนการหลอมเหล็กในเตาหลอมจะนำเศษเหล็ก (ซึ่งกรณีนี้มีแท่ง Cs-137 มารวมด้วย) มาอัดกันเป็นก้อน แล้วเทเข้าสู่เตาหลอมที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศา ขณะที่เพิ่มความร้อนจะมีฝุ่นเหล็กละเอียดออกมาลอยผ่าน Hood ขึ้นไปสู่ถุงกรองฝุ่น หรือ Baghouse Filter ซึ่งจะทำการกรองฝุ่นละเอียดไว้ได้ถึง 90% อีก 10% จะลอยออกไปที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศขณะที่ก้นเตาหลอมจะมีตะกรันเหล็ก หรือ Slag ที่เผาไหม้ไม่หมดกองอยู่ด้วย
3. ดังนั้น ที่ปลายปล่องมีฝุ่นละเอียดกับ Cs-137 ระบายออกไปสู่บรรยากาศรอบ ๆ โรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งอาจไปไกลมากกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนฝุ่นแดงกับ Cs-137 ในถุงกรองหรือ Baghouse Filter จะถูกบรรจุในถุงขนาดใหญ่นำไปรีไซเคิลยังโรงงาน “บริษัท เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์ จำกัด” ตำบลหนองแฟบ อำเภอห้วยโป่ง จังหวัดระยอง เพื่อสกัดธาตุสังกะสีออกมา ซึ่งการสกัดต้องใช้การถลุงที่ใช้ความร้อนสูงจึงอาจมี Cs-137 ปนเปื้อนออกมาที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศรอบ ๆ โรงงานนั้นในจังหวัดระยองด้วย ส่วนตะกรันเหล็ก หรือ Slag ทราบว่าโรงงานหลอมเอาไปฝังกลบไว้รอบ ๆ โรงงาน ดังนั้น จึงอาจมีสาร Cs-137 ปนเปื้อนในดิน, น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินได้
4. สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากสาร Cs-137 ปะปนในสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ, ดิน, น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน และอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยาเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ทั้งการหายใจและทางอาหาร เช่น Cs-137 ลงในน้ำเข้าสู่ตัวปลาและมนุษย์จับปลามากิน เป็นต้น หรือหายใจเอาฝุ่นของ Cs-137 เข้าไปจะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสาร Cs-137 จะปล่อยรังสีแกมมาและเบตาออกมา การสลายตัวครึ่งชีวิตใช้เวลาถึง 30 ปี รังสีที่แผ่ออกมาจากฝุ่น Cs-137 จะทำให้เซลล์ในร่างกายเกิด Mutation หรือกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ บางส่วนของรังสีจะไปกระตุ้นโครโมโซมในยีนส์ให้เปลี่ยนรูป สุดท้ายประมาณ 5-10 ปีก็อาจกลายเป็นมะเร็งได้
5. ผลกระทบต่อสุขภาพในปัจจุบันอาจไม่ค่อยเห็น แต่ระยะยาวหากรับสารนี้เข้าไปไม่ว่าทางการหายใจหรือการกินมีผลกระทบแน่ ดังนั้น ภาครัฐต้องเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงานและประชาชนรวมทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอาหารสัตว์น้ำ พืช, ผัก และผลไม้ที่ปลูกใกล้เคียงโรงงานอย่างน้อย 1-2 ปี ให้แน่ใจว่าไม่มีสาร Cs-137 ตกค้างในห่วงโซ่อาหารแล้วจึงค่อยวางมือ ขณะเดียวกันต้องบอกความจริงเกี่ยวกับผลของการตรวจวัดรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนกลุ่มเสียงในรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างน้อย 5 ปีด้วย”
สำหรับวิธีป้องกันตัวเองจาก “ซีเซียม-137” ทาง “สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” ระบุว่าไว้ 5 ข้อดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสี หรือกล่องเหล็กต้องสงสัย
- ถ้าอยู่ในที่เกิดเหตุให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสียังหน่วยงานที่กำหนด
- รวบรวมสิ่งของ หรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปใช้
- ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม
- ติดตามข้อมูลสถานการณ์การเกิดเหตุ และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด
ส่วนวิธีสังเกตอาการตัวเองหากเราสัมผัสสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ง่าย ๆ อาการที่พบบ่อยก็คือ มีไข้, คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร, ถ่ายเหลว และผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง ในกรณีที่สัมผัสสารกัมมันตรังสีปริมาณมากจะทำให้ระบบเลือดมีปัญหา, กดไขกระดูกและระบบประสาท, ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้
ที่มาข้อมูล: ผู้จัดการออนไลน์ และ Hfocus
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เผยสาเหตุทำไม “อีซาร่า (Lee Sa Ra)” ในซีรีส์ “The Glory” เปลี่ยนสีผมจากดำเป็นบลอนด์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: กินได้จริงเหรอ? ชาวเน็ตถกกันอย่างดุเดือด หลัง “ขนมปังเกรียม” ถูกวางขายในตลาดประเทศอังกฤษ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: รัสเซียผุดไอเดียแบบใหม่แบบสับ! ปูถนนลาดยาง “กลิ่นสตรอว์เบอร์รี” เพื่อลดปัญหากลิ่นยางมะตอย