การให้ผ่านร่าง “พ.ร.บ.กิจการอวกาศ” กลายเป็นข่าวใหญ่เขย่าวงการวิทยาศาสตร์ และอวกาศไทยเมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม 2564) หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ หรือกฎหมายอวกาศแล้ว โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
สำหรับร่างพ.ร.บ. หรือกฎหมายอวกาศฉบับนี้ เป็นกฏหมายที่ทันต่อสถานการณ์และรองรับอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัยหรือแม้แต่ระดับโรงเรียน มีความร่วมมือจากจากภายในประเทศและต่างประเทศ

ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA
นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอวกาศ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. มีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy ที่เน้นบทบาทร่วมจากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นกฏหมายที่ให้การดูแลกิจการนิติบุคคลของไทย
2. ส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
3. สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศประเทศไทย
4. ดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ ทำให้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศด้วย
จากการศึกษา “อุตสาหกรรมอวกาศในไทย” พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ซึ่ง 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็นสตาร์ทอัพ และกิจการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาท
หลังจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา และการพิจารณาของรัฐสภาก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศไทย
ที่มาข้อมูล: มติชน, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ
อ่านบทความใหม่ล่าสุดก่อนใคร กดติดตามเราไว้เลย: