หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เลี่ยงบาลี” ซึ่งเป็นคำสำนวนไทย มีความหมายว่า การพูด หรือการตีความให้ตัวเองได้ประโยชน์ หรือไม่เสียประโยชน์ เพื่อหวังผลให้เรื่องไม่ดีที่ตัวเองทำ ดูเป็นเรื่องปกติไป
แต่การพูดเลี่ยงบาลี หากเกิดขึ้นกับผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โต หรือมีความน่าเชื่อถือสูง ก็อาจทำให้เกิดผลเสียแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดกับผู้พูด หรือผู้รับสาร หรือเลวร้ายที่สุด คือเกิดความเสียหายทั้งกับผู้พูดและผู้รับสาร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การพูดเลี่ยงบาลีของผู้นำประเทศ ผู้นำของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด หรือสับสนข้อมูล ทำให้ปฏิบัติตัว หรือรับมือกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ได้ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเองและทรัพย์สินของตัวเอง
The Joi จึงได้รวบรวม 6 คำพูดเลี่ยงบาลีเด็ดในยุครัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ทำให้คนไทยสับสนและวิจารณ์สนั่นโซเชียลมากที่สุดมาฝากทุกคน
1. มวลน้ำได้กัดเซาะคันดินผนังกันน้ำจนพังลง = เขื่อนแตก
กรณีหน่วยงานภาครัฐใช้คำเลี่ยงบาลีล่าสุด คือกรณีที่บอกว่า “อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร” ในจังหวัดนครราชสีมา ที่แตกแล้ว แต่บอกว่าไม่ได้แตก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดย “ชลประทานจังหวัดนครราชสีมา” ได้แจ้งว่า “เนื่องจากปริมาณน้ำจากพื้นที่อำเภอด่านขุนทดได้ไหลลงมายังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณมากจนเกินกว่าที่อ่างจะรับไหว ทำให้มวลน้ำได้กัดเซาะคันดินผนังกันน้ำจนพังลง ซึ่งเป็นการจงใจเพิ่มช่องระบายน้ำ ยืนยันไม่ใช่เขื่อนแตก” อย่างไรก็ตาม ชาวโคราชบอกว่า ในภาษาชาวบ้านเรียกกันง่าย ๆ ว่า “แตก” นั่นแหละ เพราะมีที่ไหนเปิดประตูระบายน้ำได้ แต่ปิดไม่ได้
2. น้ำขังรอการระบาย = น้ำท่วม
“น้ำขังรอการระบาย” เป็นคำเลี่ยงบาลีที่เกิดขึ้นสมัยผู้ว่าฯ กทม. “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่ได้เอื้อนเอ่ยคำนี้ในระหว่างการแถลงหลังการประชุมเพื่อรับสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ว่า “ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกน้ำรอระบาย เพราะถ้าน้ำท่วมต้องเป็นเหมือนปี 2554” จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ให้แซ่ดในสังคม โดยเฉพาะในหมู่ชาวกทม. ที่ประสบภัยอยู่ ณ เวลานั้น
ปล่อยให้ชาวไทยเม้าท์ได้ไม่นาน ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 “ทีมงานสุขุมพันธุ์” @TeamSukhumbhand ได้ออกมาอธิบายคำดังกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ว่า… 1) ข้อแตกต่าง #น้ำท่วม #น้ำรอระบาย ทางเทคนิคหน่วยงานต้องแยก 2 คำนี้ให้ชัดเจน เพราะมีความหมายในการปฏิบัติและการเตรียมการที่ต่างกัน 2) #น้ำรอระบาย ถ้าบอกว่าน้ำขังรอระบายคือสถานการณ์ที่ควบคุมได้ สามารถใช้เครื่องมือช่วยระบายน้ำต่าง ๆ ออกจากพื้นที่ได้ 3) แต่ถ้าหน่วยงานบอกว่า #น้ำท่วม นั้นคือสถานการณ์ที่เอาไม่อยู่ ต้องมีการประกาศเขตอุทกภัย ประกาศให้มีการอพยพ 4) ถ้าหน่วยงานไม่แยกคำสองคำนี้ออกให้ชัดเจน การปฏิบัติการจะเกิดการสับสนมาก #น้ำท่วม #น้ำรอระบาย
แต่ยิ่งพูดยิ่งถูกชาวเน็ตถล่มหนักกว่าเดิม เช่น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ชื่อว่า @thefinixize ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ก็เรียกน้ำท่วมเถอะ มันไม่เสียหาย ท่วมเยอะท่วมน้อย สังคมรู้เอง แต่มาประดิษฐ์คำใช้เอง มันก็สะท้อนการแก้ปัญหาของ กทม.” ส่วนทวิตเตอร์ชื่อ @teeteekrub ระบุว่า “สำหรับผมมันก็คือน้ำท่วมไม่ใช่หรอครับ ผมว่ามันดูแถ แบบข้าง ๆ คู ๆ” หรือ @KarmLtrumpet บอกว่า “ขอให้แถลงแต่ข้อเท็จจริง ไม่โยกโย้ ไม่แว้ง เตรียมความพร้อม รีบดำเนินการ ก็คงดี…กว่านี้”
3. ยกระดับมาตรการคุมเข้มในกรุงเทพฯ = ล็อกดาวน์
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา “นายอนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่านายกฯ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด และที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด (ศบค.) ได้ประกาศใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และยังยืนยันว่า “ไม่ได้ล็อกดาวน์”
พูดได้ก็พูดไป แต่ในทางปฏิบัติประชาชนในพื้นที่ 10 จังหวัดข้างต้น ต้องเผชิญการดำรงชีวิตแบบเดียวกับตอนล็อกดาวน์เมื่อกลางปี 2563 แบบเดียวกันเป๊ะ! เช่น ให้ทำงานจากบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ ห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ต้องสั่งกลับบ้านอย่างเดียว เป็นต้น ทำเอาชาวไทยทั้งประเทศงงหนักมาก และไม่รู้ว่าตัวเองควรซื้ออาหารตุน เพื่อเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านหรือไม่? แล้วงานอีเวนต์ต่าง ๆ ต้องเลื่อน หรือดำเนินต่อไป เป็นที่หนักใจของประชาชนยิ่งนัก
และยังมองว่า การบอกว่า “ไม่ใช่ล็อกดาวน์” ก็เผื่อเลี่ยงจ่ายเงินเยียวยา ขณะที่นักการเมืองอย่าง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทย ก็ได้โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กในทำนองเดียวกันเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า “หลังจากที่รัฐบาลประกาศ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” ว่าเรียกล็อกดาวน์ หรือไม่เรียกล็อกดาวน์ เพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าเยียวยาก็ตาม แต่เจ็บแล้วต้องจบจริง ฐานะที่เป็นอดีต รมว.สาธารณสุข เห็นว่ารัฐต้องทำมาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือการเยียวยาเพิ่มเติมควบคู่กับการล็อกดาวน์ เพื่อให้การเจ็บครั้งนี้แล้วจบปัญหาได้จริง”
4. การระบาดรอบใหม่ = ระบาดระลอกสอง
แม้จะเป็นการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในประเทศไทย แต่ “ศบค.” ยังยืนยันเรียกว่า นี่คือ “การระบาดระลอกใหม่” ทำเอาชาวไทยทั้งประเทศเป็นงงตาแตก ว่ามันใหม่ตรงไหน? เพราะเคยเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดไปต่าง ๆ นานาว่า นี่เป็นการเลี่ยงบาลีอีกครั้งของภาครัฐ โดยมีเจตนาเพื่อไม่ให้คนไทยตื่นตระหนกตกใจ
โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางศบค. ให้คำอธิบายว่าทำไมต้องเรียก “ระบาดระลอกใหม่ (Newly Emerging)” คือ การติดเชื้อใหม่จากอีกกลุ่ม (แรงงานต่างด้าว) ไม่ได้เชื่อมโยงกับการะบาดในระลอกแรก (สนามมวย หรือผับทองหล่อ) ส่วนจะเรียก “การระบาดระลอกสอง” ก็ต่อเมื่อมีผลพวงจากการระบาดรอบแรก (Re-Emerging) เช่น กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพกุ้ง จึงเรียกว่า “การระบาดระลอกใหม่” แต่ถึงจะอธิบายออกมาแบบนี้ ชาวไทยก็เรียกและเชื่อว่าคือ การระบาดระลอกสองอยู่ดี
5. ทีมแอปฯ หมอชนะ ไม่ได้ถอนตัว แต่ส่งให้รัฐดูแลทั้งระบบ = แอปฯ หมอชนะเป็นของรัฐ
กรณีเลี่ยงบาลีนี้ เป็นดราม่าถกเถียงบนโลกออนไลน์และส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐในแง่ลบ เมื่อ “นายปรัชญา อรเอก” ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE31 ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เมื่อทีมพัฒนาแอปฯ ดังกล่าว ประกาศถอนทีมและยุติบทบทของทีมพัฒนาแอปฯ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ใจความสรุปได้ว่า…
ทีมงานเอกชนพัฒนาแอปฯ หมอชนะ ที่เรียกตัวเองว่า “Code for Public” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ “วางมือ” ยุติบทบาททุกอย่างที่เกี่ยวข้องแอปฯ หมอชนะ เนื่องจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 1) แรงกดดันของ “ผู้ใหญ่” ระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและผู้อำนวยการหน่วยงานหลายหน่วยที่ช่วยกัน “รุมทึ้ง” อำนาจในการควบคุมและกำหนดอนาคตของ “หมอชนะ” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากทีมงานที่สร้างแอปฯ มากับมือ และ 2) จากการ “ใส่เกียร์ว่าง” ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานระดับกรมที่ได้รับหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนสถานะการติดเชื้อของคนไข้จาก “เสี่ยงต่ำ” เป็น “ติดเชื้อ” ทำให้เกิดกรณี “คนไข้ติดเชื้อ นอนโรงพยาบาล แต่ยังคงมีสถานะเสี่ยงต่ำ” โดยทราบว่ามาจากคำสั่งของระดับอธิบดีกรมที่ออกปากว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของกรมฯ ที่จะไปแจ้งว่าใครติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์ “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 กลับได้คำตอบคนละอย่างว่า งานพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ทางทีมดังกล่าวฯ ส่งมอบการดูแลระบบแอปพลิเคชันนั้นให้รัฐบาลรับช่วงต่อ เนื่องจากขนาดการใช้งานใหญ่ขึ้น ทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้ และต้องทำในระยะยาว จึงต้องโอนถ่ายมาให้รัฐบาลรับผิดชอบทำให้เป็นระบบ รัดกุมทางกฎหมาย และบริหารทั้งงบประมาณและบุคลากรทั้งหมดให้สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ ซึ่งชาวเน็ตหลายคนมองว่า นี่เป็นการที่ภาครัฐเอาผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง
6. ประยุทธ์ อยู่บ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการแล้ว = บ้านพิษณุโลกอยู่ระหว่างปรับปรุง และการรักษาความปลอดภัยภายในค่ายทหารทำได้ดีกว่า
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงและสร้างข้อกังขาในใจประชาชนอย่างมาก เพราะว่าตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ ซึ่งบัญญัติ ม. 184(3) ที่ห้าม ส.ส. และส.ว. รับเงิน หรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ และบังคับใช้กับนายกฯ และรัฐมนตรีด้วย ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย เห็นว่า “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นการ “รับประโยชน์ใด” จากหน่วยงานราชการ จึงขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560
อีกทั้ง ยังเกษียณออกจากราชการมานานแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่บ้านพักทหารอีก ซึ่งขัดกับ “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ. 2553” ในหมวด 3 การหมดสิทธิเข้าพักอาศัย มีการกำหนดกรณีที่ข้าราชการทหารหมดสิทธิเข้าพักในบ้านพักทหารอย่างละเอียด โดยข้อที่เกี่ยวข้องกับกรณี “พลเอกประยุทธ์” คือ ข้อ 14.2 มีสาระสำคัญกำหนัดบุคคลที่พ้นจากการเป็นข้าราชการไม่ว่ากรณีใดต้องย้ายออกจากบ้านพัก และในข้อ 15.1 ยังระบุด้วยว่า กรณีที่ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด จะต้องย้ายออกจากบ้านพัก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
แต่สุดท้ายแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีการตัดสินคดีที่ “พลเอกประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี เรื่องการใช้บ้านพักทหารหลังเกษียณราชการ ผิดตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 หรือไม่ โดยศาลตัดสินให้ “ไม่มีความผิด” มีเหตุผลดังนี้
1. ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักบ้านทหาร พ.ศ. 2555 ข้อ 5 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเข้าพักต้องมีคุณสมบัติ 5.2 เป็นผู้บังคับบัญชาการชั้นสูง ทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่ง “พลเอกประยุทธ์” ก็เข้าข่ายนี้ เพราะเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี เมื่อเกษียณอายุจากผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ จึงยังสามารถอาศัยบ้านหลังนี้อยู่ได้ เพราะทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ
2. การพักบ้านหลังนี้ของ “พลเอกประยุทธ์” เพื่อรักษาความปลอดภัยขณะดำรงตำแหน่ง จะได้ทำงานได้อย่างสมเกียรติ และการที่กองทัพอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรอง มีการสนับสนุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ก็ไม่ได้ทำให้ “พลเอกประยุทธ์” ได้ทรัพย์สินประโยชน์อื่นใด ฉะนั้น ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่มีการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงแต่อย่างใด อีกทั้งระเบียบดังกล่าว ยังกำหนดขึ้นก่อน “พลเอกประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
3. การที่กองทัพบกพิจารณาให้สิทธิ์ ไม่ได้เฉพาะ “พลเอกประยุทธ์” คนเดียว แต่เป็นไปตามดุลยพินิจระเบียบกองทัพ และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ
และจนถึงปัจจุบันนี้คำเลี่ยงบาลีทั้ง 6 ก็ยังเป็นที่งงงวยและถูกชาวเน็ตวิจารณ์อยู่เนือง ๆ ส่วนใครที่อยากติดตามเนื้อหาสาระบันเทิงแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตาม The Joi ทั้งบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและยูทูบ!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 6 วลีเด็ดของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต่อสถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : องครักษ์พิทักษ์ “ตู่” ออกโรงแก้ต่างนายกฯ ปมสวดมนต์แก้น้ำท่วม
ที่มาข้อมูล Sanook, ไทยรัฐ, สำนักข่าวอิศรา, กรุงเทพธุรกิจ, ประชาชาติธุรกิจ และไทยพีบีเอส