“พระสยามเทวาธิราช” เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิ่งสำคัญที่คนไทยนับถือมาช้านานกว่า 100 ปี เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และกำหนดให้มีการทำพิธีบวงสรวงทุกปี ในวันปีใหม่ไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
สำหรับความเชื่อของชาวไทยต่อ “พระสยามเทวาธิราช” เป็นที่นิยมกราบไหว้บูชาและเชื่อว่าจะเกิดผลดีกับผู้เคารพ จะดลบันดาลความสุข พ้นภัยจากอันตรายต่าง ๆ เพราะเปรียบเหมือนมีเทพยดาคอยคุ้มครองตลอดเวลา
แต่เมื่อไม่นานมานี้ บนโลกออนไลน์อย่าง Twitter มีชาวเน็ตออกมาพูดคุยถกเถียงว่า “พระสยามเทวาธิราช” มีที่มาที่ไปอย่างไร? จนเป็นไวรัล แบ่งกลุ่มผู้มีความเชื่อเกี่ยวกับองค์พระดังกล่าว ออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. ผู้ที่เชื่อว่าเป็นผี ผีประจำตระกูล 2. ผู้ที่เชื่อว่าเทพยดา ที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ และ 3. ผู้ที่เชื่อว่าไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงรูปเคารพธรรมดา ไม่ได้มีสถานะเป็นทั้งผี หรือเทพ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างล้นหลามไม่แพ้ประเด็น “บาตรแตก”
สุดแท้แต่วิจารณญาณและความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวลี้ลับเช่นนี้ ส่วนใครที่เคารพบูชา “พระสยามเทวาธิราช” ก็ไม่ควรพลาดได้ไปกราบไหว้บูชาองค์จำลองขององค์พระอย่างใกล้ชิดในช่วงเทศกาลสำคัญ หรือวันมงคลต่าง ๆ ตามสถานที่ 5 แห่งทั่วไทย ดังต่อไปนี้
1. พิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ย่านเทเวศร์ กรุงเทพฯ
“องค์พระสยามเทวาธิราชจำลอง” ตั้งประดิษฐานอยู่ด้านในพิพิธภัณฑ์สักทองแห่งนี้ บริเวณห้องโถงชั้น 2 ซึ่งจัดแสดง “พระพุทธรูปโบราณ”
2. สวนมโนมัย ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ภายใน “สวนมโนมัย” ดอยแม่สลอง ซึ่งสร้างโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ปี 2547 ที่บ้านสามแยก นอกจากเป็นสถานที่พักผ่อน และออกกำลังกายแล้ว ด้านในยังประดิษฐาน “พระสยามเทวาธิราช” ซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนในระแวก และผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านไปมา ช่วงเทศกาลปีใหม่
3. ช่องตะโก บ้านหนองเสม็ด ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
ใครที่มาติดต่อราชการ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ สามารถแวะมากราบไหว้ได้ทุกเมื่อในเวลาราชการ เพราะตั้งอยู่ด้านนอกเห็นเด่นชัด และมีการทำพิธีบวงทรวง “พระสยามเทวาธิราช” องค์จำลองนี้ เป็นประจำทุกปี
4. ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
หากได้ไปเที่ยวด่านเจดีย์สามองค์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีโอกาสได้ไปกราบไหว้ “พระสยามเทวาธิราช” องค์จำลองได้เหมือนกัน เพราะตั้งประดิษฐานอยู่ใกล้ ๆ กันกับศาลาสันติภาพ ไทย-ญี่ปุ่น
5. ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ทางภาคใต้ ก็มี “พระสยามเทวาธิราช” องค์จำลอง ตั้งประดิษฐานอยู่ ณ ตำบลปาดังเบซาร์ โดยในประเทศไทยมีพระสยามเทวาธิราชทั้งสิ้น 5 องค์ และที่ประดิษฐานอยู่ติดกับโรงพยาบาลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นับเป็นองค์ที่ 4
ที่มาข้อมูล MGR Online