เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2512 ยานอะพอลโล 11 (Apollo 11) เป็นยานอวกาศลำแรกขององค์การนาซา ที่ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์สำเร็จ และทำให้ “นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)” และ “บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin)” เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ
ภาพเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทั่วโลกให้ผู้คนหลายล้านได้เห็นความสามารถและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ แต่เพื่อน ๆ The Joi รู้หรือไม่ว่า… “มนุษย์” ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่ได้เดินทางท่องอวกาศ แต่ยังมีสัตว์อีกมากมายถูกส่งไปเดินทางนอกโลก เพื่อการศึกษาด้านอวกาศ จะมีตัวอะไรบ้าง? ไปดูกันเลย!
1. แมลงวันผลไม้ (Fruit flies)
สัตว์ชนิดแรกที่มนุษยเลือกส่งไปท่องอวกาศ อาจเหนือความคาดหมายของทุกคนไปสักนิด เพราะเจ้าสิ่งมีชีวิตนั้นก็คือ “แมลงวันผลไม้” โดยมันถูกส่งออกไปเดินทางนอกโลกครั้งแรกในปี 2490 เพื่อศึกษาว่า ผลกระทบของรังสีคอสมิก หากโดนมนุษย์จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง? แล้วทำไมต้องเป็น “แมลงวันผลไม้” ? คำตอบก็ง่าย ๆ เลยว่า มันมีพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด
2. ลิงและวานร (Monkeys and Apes)
เพื่อน ๆ รู้หรือไม่… มนุษย์ไม่ได้ส่งลิงหรือวานรขึ้นไปท่องอวกาศแค่ตัวเดียวหรอกนะ แต่มากถึง 32 ตัวเลยเชียวล่ะ! แถมหลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย เช่น ลิงแสม, ลิงกังหางหมู, ลิงกระรอก และลิงชิมแปนซี สำหรับลิงตัวแรกที่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกตัวแรกก็คือ “อัลเบิร์ตที่ 2” เมื่อปี 2492 แต่น่าเศร้า… ระหว่างเดินทางกลับโลก มันกลับต้องตายอย่างน่าสงสาร เพราะร่มชูชีพที่ติดกับยานไม่ทำงาน
ส่วนวานรที่เดินทางไปท่องอวกาศตัวแรกก็คือ “แฮม (Ham)” เป็นลิงชิมแปนซี ส่งออกไปนอกโลกโดย “นาซ่า (NASA)” เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2504 มันสามารถเดินทางกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย และมีชีวิตยืนยาวจนหมดอายุขัยในปี 2526
3. หนู (Mice)
“หนู” เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับนักวิทยาศาสตร์มาแทบจะตลอดเวลา เพราะมันถูกใช้วิจัยและทำการทดลองเรื่องต่าง ๆ นอกเหนือจากการศึกษาอวกาศ สาเหตุที่เลือกส่งหนูไปท่องอวกาศ ก็เพราะมนุษย์ต้องการรู้ว่า การเดินทางออกนอกโลกจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์อย่างไรอีกบ้าง ในขณะเดียวกัน “NASA” ก็ได้เผยผลการศึกษาพวกหนูตัวจี๊ดเหล่านี้ตอนอาศัยอยู่บนสถานีอวกาศ ISS ก็พบว่า พวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะไมโครแกรวิตี (Microgravity) ได้ดี คือ สภาวะที่มนุษย์อวกาศหรือสิ่งของที่ปรากฎไม่มีน้ำหนัก เป็นสภาวะที่ลอยอยู่ในอากาศหรือกำลังตกอย่างอิสระ
4. หมา (Dogs)
เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์อย่าง “สุนัขหรือหมา” ก็เป็นสัตว์อีกหนึ่งชีวิตที่เคยถูกส่งไปท่องอวกาศ และชาติแรกที่ส่งน้องหมาน่ารักของเราไปท่องอวกาศอันไกลโพ้นก็คือ สหภาพโซเวียต หมาตัวแรกที่เดินทางท่องอวกาศในปี 2500 มีชื่อว่า “ไลก้า (Laika)” มันเป็นหมาเพศเมียที่เร่ร่อนอยู่บนถนนในกรุงมอสโกมาตั้งแต่เล็ก แต่ถึงจะไร้บ้าน แต่มันกลับมีนิสัยอ่อนโยน ทำให้ฝึกได้ง่าย และนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า หมาเร่ร่อนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะที่ยากลำบากต่าง ๆ ได้ดี เรื่องน่ายินดีเกี่ยวกับ “ไลก้า” คือ มันสามารถเดินทางรอบโลกได้สำเร็จ แต่เรื่องเศร้าคือ มันไม่เคยได้เดินทางกลับโลก
ตอนแรกรัฐบาลโซเวียตอ้างว่า “ไลก้า” ได้รับอาหาร 1 มื้อและถังออกซิเจนสำหรับดำรงชีวิตอยู่ได้ 7 วัน และมันสิ้นใจหลังอยู่บนอวกาศนาน 7 วัน ซึ่งในเวลาต่อมาพบว่า จริง ๆ แล้ว มันเกิดอาการตื่นเต้นมากเกินไปและเสียชีวิตหลังออกเดินทางไปนอกโลกได้ 5 ชั่วโมงเท่านั้น
5. เต่าบก (Tortoises)
“เต่าบก” เป็นสิ่งมีชีวิตที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า นักวิทยาศาสตร์จะส่งเต่าบกไปนอกโลก แต่มันมีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาทางอวกาศ ในปี 2511 เป็่วงเวลาที่สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตแข่งขันกันว่า ใครจะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้ก่อนกัน ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็ได้ส่งยานอวกาศ “Zond 5” ของสหภาพโซเวียตก็ได้บรรทุกแคปซูลที่บรรจุดินและเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอย่างหนอนและเต่าบก 2 ตัว
เจ้าเต่าบก 2 ตัวนี้สามารถเดินทางรอบดวงจันทร์เป็นระยะเวลา 6 วัน และเดินทางกลับโลกได้อย่างปลอดภัย แต่กลับพบว่า มีน้ำหนักลดลง 10 เปอร์เซ็นต์
6. กบ (Frogs)
สิ่งมีชีวิตครึ่งบกครึ่งน้ำอย่าง “กบ” ก็ถูกนำมาศึกษาเรื่องอวกาศด้วยเช่นกัน โดย “NASA” เคยส่งกบไปท่องอวกาศในปี 2513 โดยบรรจุพวกมันไว้ในกล่องที่อยู่บนยานอวกาศโอโลทิธ (Olotith) ในภารกิจ “Orbiting Frog” เพื่อศึกษาว่า การเดินทางในอวกาศจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ ในภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว อันเนื่องมาจากระบบการทรงตัวของร่างกายและสมองของเราไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ช่วง 6 วันหลังเดินทางกลับถึงโลกแล้ว พวกกบมีปัญหาการขับถ่าย แต่หลังจากนั้น ระบบขับถ่ายของพวกมันก็กลับมาปกติเหมือนเดิม
7. แมงมุม (Spiders)
หลัง “NASA” ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2512 นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีความสนใจศึกษาเรื่อง “สภาวะไมโครแกรวิตี (Microgravity)” ที่เกิดขึ้นกับในสัตว์ด้วย และในปี 2516 ก็ได้ส่งแมงมุมสองตัว ชื่อ “อานิต้ากับอาราเบลล่า (Anita and Arabella)” ไปท่องอวกาศ และในระหว่างที่เดินทางนอกโลก นักวิทยาศาสตร์ก็จะสังเกตว่า แมงมุมยังสามารถสร้างใยแมงมุมได้ตามปกติหรือไม่? แล้วก็พบว่า สามารถทำได้เหมือนเดิม แถมดูดีมีระดับกว่าทำบนโลกนิดนึงด้วย สำหรับการทดลองกับแมงมุมนี้ ทำให้มนุษย์รู้ว่า ผลกระทบของสภาวะไร้น้ำหนักมีผลต่อการตอบสนองการเคลื่อนไหวของแขนและขา
8. ปลา (Fish)
“ปลาซิวชนิดหนึ่งที่พบในบึงน้ำเค็ม” เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกที่ได้เดินทางท่องอวกาศในปี 2516 เพื่อศึกษาผลกระทบ “สภาวะไมโครแกรวิตี (Microgravity)” ที่สามารถเคลื่อนไหวแบบสามมิติได้บนโลก โดยปลาจะเคลื่อนไหวเป็นวงกลม ในขณะที่มนุษย์เคลื่อนที่เป็นเส้นตรง
และเมื่อปี 2555 หน่วยงานอวกาศญี่ปุ่นได้ส่งปลาขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศ ISS ซึ่ง ณ เวลานั้นมีระบบการป้อนอาหารอัตโนมัติให้ปลา มีระบบหมุนเวียนน้ำ และไฟ LED เพื่อให้แสงแบบกลางวันและกลางคืน จุดประสงค์ของการทดลองนี้ก็คือ เพื่อดูว่าปลาจะตอบสนองต่อผลกระทบของรังสียังไง, การเสื่อมสภาพของกระดูกเกิดขึ้นหรือไม่ และเกิดการสูญเสียกล้ามเนื้อรึเปล่า? และอย่างไร?
9. ตัวทาร์ดิเกรด หรือหมีน้ำ (Tardigrades)
ในปี 2550 นักวิทยาศาสตร์พบว่า “ตัวทาร์ดิเกรด” หรือ “หมีน้ำ” เป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่มีชีวิตอยู่รอดได้นอกอวกาศ แม้ว่าสถานที่นั้นจะมีออกซิเจนต่ำ, มีรังสี, อาการหนาวเหน็บ และแห้งแล้งสักเพียงใด เจ้าหมีน้ำก็สามารถอยู่รอดได้ตลอด การส่งเจ้าหมีน้ำไปท่องอวกาศ นักวิทยาศาสตร์จะต้องทำให้มันตัวแห้งเสียก่อน จากนั้นก็ให้มันอยู่ในที่อยู่อาศัยที่จัดไว้ในยานอวกาศที่จะโคจรรอบโลกเป็นเวลา 10 วัน และเมื่อยานลำดังกล่าวลงจอดสู่พื้นดิน นักวิทยาศาสตร์ก็จะให้น้ำหรือให้ความชื้นคืนแก่มัน แล้วพวกเขาก็พบผลการทดลองที่น่าสนใจคือ เจ้าหมีน้ำสามารถรอดชีวิตมาได้ 68 เปอร์เซ็นต์จากความเย็นสุดขั้วและการแผ่รังสีในอวกาศ
10. หนอนตัวกลม (Nematodes)
ในปี 2546 กระสวยอวกาศโคลัมเบียสลายตัวเมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก น่าเศร้าที่นักบินอวกาศเจ็ดคนบนกระสวยดังกล่าวเสียชีวิตทั้งหมด โดยกระสวยดังกล่าวบรรทุกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ 80 อย่างไว้ด้วย และเมื่อทำการเก็บกวาดซาก มนุษย์ก็ต้องพบสิ่งที่น่าตกใจ เพราะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “หนอนตัวกลม” ที่ถูกนำไปทดลองบนอวกาศรอดชีวิตจากความร้อนจัดมาได้! ปัจจุบันหนอนตัวกลมเหล่านี้ มักถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาผลกระทบของการเดินทางในอวกาศต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ด้วย
และในอนาคตอันใกล้นี้ วงการวิทยาศาสตร์ก็เตรียมส่ง “ลิง” ขึ้นไปผสมพันธุ์บนอวกาศ มีกำหนดการจะจัดทำขึ้นบนสถานีอวกาศเทียนกงของประเทศจีน ภายในโมดูล “เหวินเทียน” โมดูลที่ใหญ่ที่สุดของสถานี ซึ่งออกแบบมาเพื่อการทดลองกับสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะ เพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า “ในอนาคตมนุษย์เราจะสามารถขึ้นไปใช้ชีวิตในอวกาศได้มั้ย?” ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนพยายามหาคำตอบมาเนิ่นนาน จะสำเร็จหรือไม่? ก็รอลุ้นไปด้วยกันนะเพื่อน ๆ !! ชีวิตแบบ “Star Wars” อาจไม่ไกลเกินจริงอีกต่อไป
ที่มาข้อมูล: Discover Wild Life และ SCMP
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: นักวิทยาศาสตร์ NASA เผยสาเหตุ “ทำไมห้ามนักบินอวกาศช่วยตัวเองนอกโลก?”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: แจกพิกัด 6 โรงแรมธีมอวกาศในไทย ไม่ต้องไปนาซ่าก็เหมือนได้เที่ยวนอกโลก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ชม 13 ภาพอัศจรรย์บนท้องฟ้า “หากดวงจันทร์ถูกดาวดวงอื่นแทนที่ เราจะเห็นภาพจากโลกเป็นอย่างไร”