หากเพื่อน ๆ เปรียบเทียบร่างกายมนุษย์กับสัตว์ต่าง ๆ จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ “มนุษย์นมใหญ่กว่าสัตว์อื่น ๆ” แต่เพราะอะไร? นักสัตววิทยามีคำตอบ!
“เดสมอนด์ มอร์ริส (Desmond Morris)” นักสัตววิทยาชาวอังกฤษ ได้อธิบายว่า “เต้านม” หรือ “นม” ของสัตว์ทั่วไปมักจะขยายใหญ่ชั่วคราวหรือไม่ถาวร โดยจะเกิดขึ้นช่วงผสมพันธุ์หรือให้นมลูก (อาจมีการขยายใหญ่ขึ้น 1-2 นิ้วระหว่างผลิตน้ำนม) เมื่อน้ำนมที่จะให้ตัวอ่อนหมดลงเต้านมก็จะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ
แต่สำหรับมนุษย์เพศหญิงกลับมี “นม” เป็นเอกลักษณ์และใหญ่ เมื่อเทียบกับขนาดของร่างกายและเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ อีกกว่า 5,000 ชนิด แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายมนุษย์กันล่ะ!?
ทฤษฎีแรกของ “ชาลส์ ดาร์วิน”
หากอ้างอิงตาม “ทฤษฎีของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)” ซึ่ง “เดสมอนด์ มอร์ริส” เคยนำมาใช้อ้างอิงในหนังสือ “The Naked Ape” ของตัวเองเมื่อปี 2510 เขาอธิบายไว้ว่า เต้านมที่มีขนาดใหญ่เป็น “สัญลักษณ์แสดงการตกไข่ของร่างกายเพศหญิง จากเดิมที่อวัยวะเพศจะบวมแดงแทน” นั่นก็เพราะบรรพบรุษของมนุษย์มีวิวัฒนาการมายืนสองขาได้
และอวัยวะเพศหญิงอยู่ในจุดที่ยากแก่การมองเห็น มนุษย์เพศชายจึงไม่รู้ว่า มนุษย์เพศหญิงคนที่เขาเห็นกำลังเข้าสู่ช่วงตกไข่แล้วหรือไม่? ดังนั้น “นม” จึงมีวิวัฒนาการ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ไม่ได้ให้คำตอบว่า “เหตุใดเต้านมจึงยังอยู่แม้มนุษย์เพศหญิงจะหมดประจำเดือนไปแล้ว”
ทฤษฎีที่สองของ “ทิม คาโร”
ในปี 2530 “ทิม คาโร (Tim Caro)” นักนิเวศวิทยาชาวอังกฤษ ได้ตั้งทฤษฏีว่า “การที่มนุษย์เพศหญิงนมใหญ่กว่าสัตว์อื่น ก็เพื่อความสะดวกในการให้นมลูกในท่านั่ง” แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่หดเล็กลงหลังทารกหย่านมแล้ว
และจนถึงบัดนี้ นักสัตววิทยาหรือแม้แต่นักนิเวศวิทยาก็ไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถามที่ตามมาว่า “ทำไมหน้าอกมนุษย์เพศหญิงจึงยังคงใหญ่ไม่หดเล็กลงหลังหย่านมบุตรเหมือนกับสัตว์อื่น ๆ?” แต่ที่พวกเขาทราบแน่ ๆ คือ ในอดีตการมี “นมใหญ่” ทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้ชีวิต, ไล่ล่าสัตว์ หรือหนีภัยอันตราย และในยุคปัจจุบัน “นมใหญ่” กลายเป็นเป้าหมายของ “โรคมะเร็งเต้านม”
จากสถิติผู้ลดขนาดเต้านมในสหรัฐฯ ประเทศเดียวเมื่อปี 2559 พบว่า มีจำนวนมากกว่า 61,000 คน ขณะที่สถิติผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมในทั่วโลกเมื่อปี 2564 มีมากกว่า 685,000 คน และหากย้อนดูสถิติผู้เสียชีวิตย้อนหลังไป 5 ปี จะพบอีกว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย!
แต่ “นมใหญ่” ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันนะเพื่อน ๆ เพราะในแง่ของวัฒนธรรมแล้ว “เต้านม” ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แทนความสวยงาม, ความอุดมสมบูรณ์, ความมีอิสรภาพ, การมีอำนาจ, การแข่งขัน และอีกมากมาย นอกเหนือจากใช้ดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เท่านั้น
ที่มาข้อมูล: Business Insider และ SDG Move
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เทรนด์แปลกมาแรง! วัยรุ่นอินเดียฮิตดื่มน้ำต้มจากถุงยาง เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: วิจัยต่างประเทศเผยแล้ว “ชอบดูคลิปกดสิว” ไม่ได้โรคจิต แต่ทำให้เป็นคนอารมณ์ดี
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: นักวิทยาศาสตร์ NASA เผยสาเหตุ “ทำไมห้ามนักบินอวกาศช่วยตัวเองนอกโลก?”