เมื่อวานนี้ (13 กันยายน 2564) ประเทศไทยต้องสูญเสีย “คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์” หรือเป็นที่รู้จักภายใต้นามปากกา “ทมยันตี” บุคคลสำคัญของวงการนักเขียนนวนิยายไทยไปอย่างไม่มีกลับ ขณะที่นั่งสมาธิที่ล้านนาเทวาลัย ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สิริรวมอายุ 85 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าของคนในครอบครัวและแฟนคลับที่ไม่ทันตั้งตัวกับการจากไปของเธอ
แต่สำหรับ “ทมยันตี” ได้เตรียมตัวพร้อมตายมาได้สักพักใหญ่แล้ว และเคยเผยคำทำนายเวลาตายของตัวเองไว้อย่างแม่นยำกับสื่อใหญ่ทั้งทางโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ เมื่อปี 2560 กับนิตยสาร “Hello! Thailand” และในปี 2561 กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
การสัมภาษณ์กับรายการ “ศิลป์สโมสร” ช่องไทยพีบีเอส เมื่อปี 2561 มีช่วงหนึ่ง “ทมยันตี” ได้ระบุว่า “อายุมาถึงป่านนี้ คิดว่าอีกไม่เกิน 2-3 ปีก็ตาย ดิฉันเตรียมที่ตายไว้แล้วที่นี่ (ล้านนาเทวาลัย) คุณจะเห็นซุ้มกุหลาบ มีม้านั่งอยู่ตัวหนึ่ง เป็นรูปดิฉันนั่งอ่านหนังสือ ใกล้กันมีจัมโบ้ หมาแสนรักอีกตัวหนึ่ง ตรงนั้นจะเป็นที่ซึ่งเอากระดูกดิฉันว่าใส่ไว้ตรงโคนต้นไม้ ลูกดิฉันก็รับรู้ทุกคนว่าแม่คงจะอยู่อีกไม่นาน”
และการสัมภาษณ์กับนิตยสาร “Hello! Thailand” ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2560 “ทมยันตี” ก็ได้กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งในทำนองเดียวกันว่า “ดิฉันรู้ตัวแล้วว่า เราเดินทางมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว คนใกล้ตายรู้ตัวทุกคนนะ ยิ่งใครที่มรณานุสติเป็นประจำ สังเกตลมหายใจตัวเองก็รู้เมื่อไหร่ที่ลมหายใจออกยาวกว่า ส่วนลมหายใจเข้าก็สั้นลง ๆ คงเป็นตอนที่ดิฉันคว่ำจอมศาสดาหน้าสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว”
“ถึงตอนนั้นดิฉันคงจากโลกนี้ไปอย่างสงบ เพราะภารกิจทุกอย่างได้เสร็จสมดั่งใจหมาย ได้เขียนนิยายเรื่องสุดท้ายจบสมบูรณ์ ได้สร้างเทวาลัยให้คนนั่งปรับทุกข์กับเทวดา ความจริงคือ การปรับทุกข์กับพลังงานสูงสุดในจักรวาล กับแสงสว่างในหัวใจตัวเอง เพราะมนุษย์ก็คือ ผู้มีแสงสว่างในหัวใจ ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ของผู้อื่น เพราะหากวันใดที่เราทุกข์อย่างเขา ถ้ามีมือยื่นมา มีน้ำคำ น้ำใจปลอบประโลมหัวใจให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ขอให้ทุกคนเป็นมนุษย์ที่แท้อย่างที่ท่านพุทธทาสสอน จงเป็นมนุษย์ที่แท้ อย่าเป็นอมนุษย์ทั้งหลาย”
ประวัติย่อและผลงานของ “ทมยันตี”
“คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์” เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2479 มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนหนังสือ โดยใช้นามปากกาว่า “ทมยันตี, ลักษณาวดี, โรสลาเรน, กนกเลขา, มายาวดี, ทยุมณิ และราตริมณิ” ในจำนวนนามปากกาต่าง ๆ ที่ว่ามา “ทมยันตี” เป็นนามปากกาที่มีผู้รู้จักมากที่สุด
มีผลงานนวนิยายดังหลายเรื่องและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น “คู่กรรม” แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และ “พิษสวาท” แปลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่ที่ดังที่สุด คือ “คู่กรรม” ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มากถึง 10 ครั้ง ละครเวที และภาพยนตร์ เนื้อเรื่อง ในนวนิยายที่เธอแต่ง ตัวละครจะมีชีวิตชีวา ปลูกฝังความคิดเรื่องความกตัญญู ความเคารพกฎระเบียบ ความเสียสละ ความรักชาติรักแผ่นดิน ความยึดมั่นในความดี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมุ่งสร้างบุญละบาป ความเป็นผู้หญิงที่แกร่ง อดทน ความเชื่อ และเคารพตนเอง
อย่างไรก็ตาม มีคนที่ทั้งรักทั้งชัง “ทมยันตี” เช่นกัน จากกรณีที่เธอเป็นแกนสำคัญของ “ชมรมแม่บ้าน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2519 เพื่อโจมตีขบวนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพอเมริกาโดยตรง โดยรวมเอาภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล รวมทั้งแม่บ้านจำนวนมาก เข้าเป็นสมาชิก บทบาทที่เด่นชัดของชมรมแม่บ้านคือ การปกป้องและแก้ต่างแทนสหรัฐอเมริกา และโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ นอกจากนี้ ชมรมแม่บ้านยังได้ตั้งข้อเสนอเรียกร้องให้คงเรดาร์ของอเมริกาไว้ในประเทศไทยต่อไป แทนที่จะเห็นว่าการตั้งเรดาร์ของสหรัฐเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศ และรุกรานเพื่อนบ้าน
สำหรับพิธีศพของ “ทมยันตี” ได้ถูกนำมาไว้ที่ศาลาวัดบวกครกใต้ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยลูกชายคนโตของเธอเผยว่า จะเก็บศพไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ อีก 2 วัน คือวันที่ 14-15 กันยายน 2564 แต่ไม่มีพิธีสวดศพ แต่จะเปิดให้คนที่เคารพและนับถือท่านเข้ามากราบศพ หลังจากนั้นจะนำศพไปที่กรุงเทพฯ ณ วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 กันยายน
ที่มาข้อมูล Kapook, ThaiPBS, Hello Thailand, INN, สำนักข่าวไทยและ คมชัดลึก