ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าคนยุค Millennial หรือเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ ไม่ได้มีทัศนคติที่ดีนักต่องานประจำหรืองานออฟฟิศแบบที่คนรุ่นก่อน ๆ มองอีกต่อไป แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันกลับเป็นการทำงานโดยเป็นเจ้านายตัวเอง แต่อะไรล่ะคือเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดเช่นนี้
ทางคุณวิชญ์ จากเพจ Startyourway เส้นทางนายตัวเอง ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า “ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงอยากเป็นนายตัวเองและไม่อยากทำงานประจำ” มาดูกันว่าเพื่อน ๆ จะตรงกับข้อไหนบ้าง!
1. ไอดอลส่วนใหญ่ทุกสื่อมักเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วได้รับการชื่นชม ยกย่อง ไม่ค่อยมีไอดอลเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ประสบความสำเร็จและได้รับการชื่นชมยกย่องออกสื่อ
จะสังเกตได้ว่าในรายการต่าง ๆ ที่เอานักธุรกิจมาออกรายการ บุคคลเหล่านั้นล้วนแบ่งปันประสบการณ์ว่าตัวเองได้ผ่านความยากลำบากอะไรบ้าง เริ่มต้นยังไง รายได้เท่าไหร่ และฝ่าฟันอุปสรรคยังไง เอาชีวิตเป็นสิบ ๆ ปีมาย่อให้เหลือไม่กี่นาที ไฟในตัวผู้ฟังเลยติดง่าย
ซึ่งในขณะเดียวกันฝั่งมนุษย์เงินเดือนนั้นแทบไม่มีใครมาออกรายการหรือแสดงตัวเลยว่าฝ่าฟันอะไรมาบ้าง ได้เงินเดือนเท่าไหร่ ทำยังไงถึงจะมีเงินเดือนเท่าเขา เด็กรุ่นใหม่เลยรู้สึกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นเป็นหนทางเดินที่ยากกว่า เพราะไม่มีตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จแล้วชีวิตสุขสบาย ถึงมีจริง ๆ ก็มักจะเป็นคนอายุเยอะที่ทำงานมาเป็นสิบ ๆ ปี ไม่ใช่วัยรุ่นที่ต้องการความสำเร็จก่อนอายุ 25-30 ไม่ใช่รอจนถึงอายุ 50 ปีก่อน
2. จุดเด่นของงานประจำคือความมั่นคง ปัจจุบัน ภาพลักษณ์นั้นไม่เหลืออีกแล้ว
ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่างานประจำนั้นไม่ได้มีความมั่นคงเลย จะด้วยเศรษฐกิจไม่ดี นายจ้างจ่ายไม่ไหว ธุรกิจถึงทางตัน ยอดขายไม่โตตามเป้าจนต้องลดคนงาน โดยเฉพาะในยุคที่คนพร้อมจะแชร์ข่าวสารการปิดตัวของหรือลดขนาดบริษัทต่าง ๆ แบบไฟลามทุ่ง ทำให้เด็นรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกเห็นใจยามที่คนเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง
เด็กรุ่นใหม่จึงมองว่าถ้าทำงานประจำแล้วมีสิทธิ์เจอความไม่มั่นคงอย่างนั้น ทำไมถึงไม่ลุยออกมาสร้างอาณาจักรของตัวเองเลยในเมื่อมันก็มีความเสี่ยงเหมือน ๆ กัน ตอนนี้มีแรง มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ มีไฟ ก็น่าจะใช้จุดนั้นสร้างธุรกิจของตัวเอง ไม่ต้องรอตอนแก่จนหมดไฟไปแล้ว
3. คำคมของคนประสบความสำเร็จระดับโลกนั้นเสียงดังและแรงกว่าคำคมประสบความสำเร็จของมนุษย์เงินเดือน
ทุกคำคมของบุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลก จะพุ่งเป้าหมายไปที่ความฝันของตัวเองหมด ยุให้เกิดแรงบันดาลใจ คิดใหญ่ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกันคำคมที่เป็นกฏเหล็กของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การทุ่มเททำงานอย่างหนักให้กับบริษัทมากกว่าจะทำเพื่อความสำเร็จแบบส่วนตัว
เด็กรุ่นใหม่จึงมองว่าในเมื่อมีคนประสบความสำเร็จระดับโลกมากระซิบบอกเขาผ่านทางหน้า Facebook, Google, Youtube หรืออื่น ๆ ทุกวันอยู่แล้ว ทำไมจะต้องรับใช้ความฝันคนอื่นด้วยในเมื่อการรับใช้ความฝันตัวเองมันสบายกว่า
4. รายได้ไม่พอใช้
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี โดยเฉลี่ยเด็กรุ่นใหม่จะได้เงินเดือนราว ๆ 12,000-20,000 บาท แต่ถ้ามาคิดดี ๆ สมมุติว่าได้เงินเดือน 20,000 บาท ถ้าเป็นนายตัวเองก็ต้องหาเงินให้ได้วันละ 700 บาท พอครบ 30 วันก็จะได้ 21,000 บาทพอดี นั่นหมายความว่าขอแค่ทำเงินให้ได้วันละ 700 ร้อยบาท พวกเขาก็สามารถมีรายได้เยอะกว่าเงินเดือนเด็กจบใหม่เกือบทั้งกรุงเทพฯ แล้ว มันน่าเสี่ยงและเดิมพัน
5. การยอมแพ้ให้กับอำนาจ กระแสสังคม หรือทัศนคติ เป็นเรื่องที่เด็กรุ่นใหม่รับไม่ได้
กระแสต่อต้านมีมากทุกยุคทุกสมัย ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่ประกาศตัวว่าเขาไม่อยากทำงานประจำ อยากจะเป็นนายตัวเอง เจ้าของธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ จะมีคนกลุ่มหนึ่งประนามพวกเขาว่า “ขี้เกียจ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ โลกสวย ฝันหวาน ไม่ยอมรับความจริง เรียนมาทำไมเสียของ” จนกระทั่งกลายเป็นดูถูกเหยียดหยามไปโดยอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
พวกเขามองว่าเมื่อโดนต่อว่าขนาดนี้ การยอมรับมันเป็นเรื่องของความพ่ายแพ้ พวกเขาจึงต้องการหาทางเอาชนะคนที่ประเมินพวกเขาโดยที่ไม่สนใจความฝันของพวกเขาเลย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการพิสูจน์ว่า “คุณคิดผิด ฉันคิดถูก ฉันจะประสบความสำเร็จให้พวกคุณดู” เป็นต้น
6. อินเตอร์เน็ตสามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่สร้างธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ประสบการณ์ คอนเน็คชั่น หรือวาสนา แถมยังสามารถค้นหาแหล่งความรู้ในการทำเงินฟรี ๆ ได้อีกมากมาย
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับเลยว่าอินเตอร์เน็ตช่วยสร้างอาชีพใหม่ ๆ มากมายที่ทำง่าย สนุก และได้เงินดีเหมือนกัน เด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่ได้ฝันถึงการเป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้าน บางทีพวกเขาต้องการเงินแค่เดือนละ 1-3 หมื่นบาทก็สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้แล้วโดยไม่ต้องทำงานประจำ ซึ่งมันก็ดูสบายใจกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่มาพร้อมกับความเครียดและความกดดัน ถ้าล้มเหลวก็ไม่ได้เสียอะไรนี่
ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเคล็ดวิชาอะไรอีกต่อไป พวกเขาเลยใช้ชีวิตโดยตั้งโจทย์ว่าถ้าจะต้องทำงาน 09:00-18:00 น. แต่ได้เงินเดือนแน่ ๆ กับอีกเส้นทางที่ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยแต่มีโอกาสลุ้นเป็นเศรษฐี อันหลังน่าจะพลิกชีวิตได้ง่ายกว่า
7. การจราจรอันโหดร้ายและไลฟ์สไตล์ในฝัน
เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบที่จะผจญรถติด เพราะนอกจากมันจะเหนื่อยแล้ว มันยังเซ็งและพาลให้หมดแรงก่อนการทำงานจริง ๆ จะเริ่มต้นด้วย
ในขณะเดียวกัน Facebook ก็ประทานหน้าต่างวิเศษให้เราสามารถส่องชีวิตคนอื่นผ่านโทรศัพท์มือถือได้ด้วย หลายคนเห็นชีวิตคนอื่นและเกิดการเปรียบเทียบ ในขณะที่ตัวเองกำลังเหน็ดเหนื่อยกับการจราจรและนั่งทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน มีคนมากมายที่พึ่งตื่น กินกาแฟ หรือกำลังทำงานในบ้านหรือสถานที่ท่องเที่ยวโดยไม่ต้องใช้ชีวิตข้องเกี่ยวกับการจราจรหรือเวลาทำงานเลย เด็กรุ่นใหม่อยากได้รายได้พร้อมกับไลฟ์สไตล์ที่ออกแบบได้โดยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร
ที่มาบทความ: วิชญ์ Startyourway