สถานการณ์ขาดแคลนวัคซีน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยประเทศเดียว หลายประเทศทั่วโลกเองก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ทำให้โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้าออกไป ความล่าช้านี้ก็ส่งผลให้ประชาชนได้รับวัคซีนไม่ตรงกำหนด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีผลต่อการสร้างภูมิต้านทานโควิด-19 ในร่างกายของผู้รับวัคซีน จนต้องพิจารณากลยุทธ์เพิ่มภูมิต้านทาน ด้วยการ “ฉีดวัคซีนไขว้” โดยใช้วัคซีนต่างยี่ห้อระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 รวมไปถึงเข็มที่ 3
ปัจจุบันมี 10 ประเทศทั่วโลกที่ “กำลังตัดสินใจ “หรือ “ตัดสินใช้วิธีฉีดวัคซีนไขว้แล้ว” มีดังนี้
1. บาห์เรน
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 บาห์เรนประกาศว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติต้องฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนตัวใดก่อนหน้านี้มาก็ตามแล้ว สามารถฉีดกระตุ้นภูมิด้วย “วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech) หรือซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ได้
2. ภูฏาน
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรี โลเทย์ เชอริง เผยว่า เขาสะดวกใจกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรผสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากร 700,000 คน ในประเทศเล็ก ๆ อย่างภูฏาน
3. แคนาดา
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการที่ปรึกษาการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา แถลงข่าวว่า คนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เป็นเข็มแรก เข็มที่ 2 ควรฉีดตัวอื่น โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันก่อนการแถลงข่าวดังกล่าว คณะกรรมการชุดนี้เคยแนะนำว่า คนที่ฉีดแอสตร้าเซเนก้า เป็นเข็มแรก อาจเลือกฉีดวัคซีนตัวอื่นเป็นเข็มสองก็ได้
ทั้งนี้ แคนาดาเปิดให้ฉีดวัคซีนไขว้ต่างชนิด เพราะความกังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตันที่เกี่ยวข้องกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า
4. จีน
ข้อมูลเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2564 ของทางจีน เผยว่า นักวิจัยจีนกำลังทดลองโครงการขั้นต้นขนาดเล็ก “เรื่องการฉีดวัคซีนไขว้” เข็มแรกเป็นวัคซีนแจกแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSinoBIO) ตามด้วยวัคซีนจากบริษัทในเครือฉงชิ่งจี้เฟย ไบโอโลจิคอลโปรดัคท์ (Chongqing Zhifei Biological Products)
ส่วนข้อมูลเดือนมิถุนายน 2564 ยังระบุว่า นักวิจัยจีนยังทดลองฉีดวัคซีนแคนซิโนไบโอ (CanSinoBIO) เป็นเข็มกระตุ้น กับคนที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นเข็มที่ 1 หรือเข็มที่ 2 ด้วย
5. อินโดนีเซีย
กำลังพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ฉีดซิโนแวค (Sinovac) ไปก่อนหน้านี้ หลังจากเจ้าหน้าที่หลายพันคนตรวจเจอโควิด-19 ทั้งที่ฉีดวัคซีนแล้ว
6. อิตาลี
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 สำนักงานยาอิตาลี (เอไอเอฟเอ-AIFA) ประกาศให้ประชาชนอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือที่รู้จักกันในนาม “แวกเซฟเรีย (Vaxzevria)” เป็นเข็มแรก สามารถฉีดวัคซีนตัวอื่นเป็นเข็มที่ 2 ได้
7. รัสเซีย
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ (อาร์ดีไอเอฟ-RDIF) ประกาศว่า รัสเซีย “อาจเริ่มทดลองใช้ วัคซีนสปุตนิกวี (Sputnik V) สลับกับวัคซีนจีนหลายตัว” ที่ใช้ในประเทศอาหรับ หลังจากเคยทดลองทางคลินิก ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ร่วมกับสปุตนิกวีมาแล้ว และไม่เกิดผลข้างเคียงในทางลบ
8. เกาหลีใต้
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เกาหลีใต้ประกาศว่า ประชาชนราว 760,000 คน ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เป็นเข็มแรก จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นเข็มที่ 2 เนื่องจากการส่งมอบวัคซีนตามโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ล่าช้า ไปถึงเดือนกรกฎาคม 2564 หรือช้ากว่านั้น จากเดิมต้องมาถึงในเดือนมิถุนายน ประกอบกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีก็ร่อยหรอ เพราะประชาชนออกมาฉีดวัคซีนกันมากเกินคาด ทำให้เกาหลีใต้บรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนครึ่งแรกได้ก่อนกำหนด
ก่อนหน้านี้ ทางเกาหลีใต้ตั้งใจใช้วัคซีนโคแวกซ์ราว 835,000 โดส โดยวางแผนใช้เป็นวัคซีนหลักในการฉีดเข็มที่ 2 ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้าราว 760,000 คน ที่ฉีดเข็มแรกไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
9. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เมื่อเดือนเมษายน 2564 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech) เป็นตัวกระตุ้นภูมิสำหรับคนที่ฉีดซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ไปก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และเพิ่งเปิดให้ฉีดซิโนฟาร์มเข็มที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เองเป็นอย่างน้อย หลังพบว่าบางคนฉีดซิโนฟาร์มไปแล้วไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ
ตัวแทนของ “มูบาดาลา เฮลธ์ (Mubadala Health)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนแห่งรัฐมูบาดาลา กล่าวว่า ประชาชนสามารถรับวัคซีนกระตุ้นภูมิเป็นคนละตัวกับที่ฉีดไปก่อนหน้าได้แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้รับ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพไม่ได้เป็นผู้ให้คำแนะนำ
10. เวียดนาม
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เวียดนามอนุมัติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech) เป็นเข็มที่ 2 ให้กับคนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ไปแล้ว
ที่มาข้อมูล Reuters