การชุมนุมไล่นายกฯ ที่ต้องจับตามองที่สุดในขณะนี้ คงจะเป็นของม็อบไหนไปไม่ได้ นอกจาก “ม็อบทะลุแก๊ส” ที่สามเหลี่ยมดินแดง ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ “คฝ. หรือ ตำรวจควบคุมฝูงชน” ต้องใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อรักษาความสงบและควบคุมความเสียหายไม่ให้กระจายเป็นวงกว้าง โดยมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ลงมือก่อเหตุใช้อาวุธและทำลายทรัพย์สินราชการได้หลายสิบคน
ล่าสุดคฝ. ได้เข้าควบคุมตัวสื่อมวลชนและทีมแพทย์ไปตรวจสอบเอกสารหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนว่า ทั้งสองเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยเป็นสื่อมวลชนจากสำนักข่าวออนไลน์ 1 คน และผู้มีสัญลักษณ์ทีมแพทย์อีก 1 คน ก่อนคฝ. จะพาทั้งสองคนขึ้นกระบะออกจากพื้นที่หน้าสำนักงานเขตดินแดง ถนนมิตรไมตรี 2 ไปตรวจสอบข้อมูล
สำหรับสื่อมวลชนที่ถูกควบคุมตัวทราบภายหลัง คือ “นายโอปอ-ณัฐพงศ์ มาลี” ผู้สื่อข่าวออนไลน์จากสำนักข่าวราษฎร โดยทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของ “เยาวชนปลดแอก“ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
#ม็อบ13กันยา โอปอ ณัฐพงศ์ สื่ออิสระจากสำนักข่าวราษฎรถูกตำรวจควบคุมตัว ห้ามไม่ให้ใช้มือถือ และตรวจค้นใบอนุญาตทำงาน
ภายใต้สถานการณ์เสมือนรัฐประหารเช่นนี้ สื่อกระแสหลักทั้งประเทศถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มข้น สื่ออิสระคือที่พึ่งของประชาชนในการกระจายข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา pic.twitter.com/br6oB4b9Ia
— FreeYOUTH (@FreeYOUTHth) September 13, 2021
“#ม็อบ13กันยา โอปอ ณัฐพงศ์ สื่ออิสระจากสำนักข่าวราษฎร ถูกตำรวจควบคุมตัวห้ามไม่ให้ใช้มือถือ และตรวจค้นใบอนุญาตทำงาน ภายใต้สถานการณ์ เสมือนรัฐประหารเช่นนี้ สื่อกระแสหลักทั้งประเทศถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มข้น สื่ออิสระคือที่พึ่งของประชาชนในการกระจายข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา สื่ออิสระคือสื่อของประชาชน! รัฐต้องปล่อยตัวสื่อและประชาชนทุกคนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข JOURNALISM IS NOT A CRIME! #ม็อบ13กันยา #เยาวชนปลดแอก
แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวว่ามีการปล่อยตัว “โอปอ” แล้วหรือไม่ รวมถึงผู้ที่มีสัญลักษณ์ทีมแพทย์ก็เช่นกัน ส่วนสาเหตุที่คฝ. เข้าควบคุมบุคคลทั้งสอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสถานการณ์การชุมนุมที่ยังไม่ยุติและมีความรุนแรง อีกทั้ง ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เลยเวลาเคอร์ฟิวคือ 21:00 น.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 คฝ. ก็ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล ขณะที่สื่อมวลชนกำลังยืนรายงานข่าว ก็ขอตรวจบัตรสื่อและขอให้หยุดถ่ายทอดสดสถานการณ์ที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบก และฝั่งถนนมิตรไมตรี ซึ่งมีการปะทะระหว่างมวลชนและคฝ. อย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาออกมาจากในรั้วกรมดุริยางค์ และบนสะพานลอย พร้อมกับยิงแสงเลเซอร์ ตอบโต้ผู้ชุมนุมที่ปาประทัดและยิงหนังสติ๊ก
ที่มาข้อมูล ไทยรัฐ, ข่าวสด และมติชน